รองนายกฯภูมิธรรม  บูรณาการหน่วยงาน ร่วมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ  พร้อมรับมือ “ลานีญา” ป้องกันอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง


รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้า สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ได้กำชับให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง  บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปีนี้อย่างมีเอกภาพ
       

  วันที่  10 ก.ค. 67  เวลา 13.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อมด้วย นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยมี นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  กล่าวต้อนรับ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 24 หน่วยงาน นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม  เครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมฯ กว่า 200 คน ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 2 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
         

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง  บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปีนี้อย่างมีเอกภาพ  นอกจากนี้รัฐบาล ได้เตรียมแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว  โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ภาคกลาง  ดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างใกล้ชิด  และให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง  เพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง  เพื่อใช้ในการวางแผนการเตรียมการรับมือล่วงหน้า
         

สำหรับช่วงวันที่ 16-17 กรกฎาคมนี้  ตามที่ได้มีการคาดการณ์ว่า  อาจมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้มอบหมายให้ สทนช. นำรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ  ไปเตรียมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ ณ จังหวัดระยอง หรือพื้นที่ใกล้เคียง ในส่วนโครงการที่ได้รับงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา ให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด และเตรียมความพร้อมการจัดซื้อจัดจ้าง  สำหรับโครงการที่กำลังจะได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2568 ทั้งนี้ในการของบประมาณต่างๆ ทุกหน่วยงาน จะต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า  เช่น ความพร้อมด้านการออกแบบ ความพร้อมด้านที่ดิน  ความพร้อมด้านการมีส่วนร่วม และด้านอื่นๆ เพื่อให้การเตรียมการขอรับงบประมาณด้านน้ำ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล  เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ  การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน เป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  ในมาตรการที่ 6 การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ มาตรการที่ 8 การสร้างความเข้มเข็งเครือข่ายภาคประชาชน  ในการให้ข้อมูลสถานการณ์ และมาตรการที่ 9 การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์
         

ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 24 หน่วยงาน นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม  เครือข่ายภาคประชาชน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยในปีนี้ ได้เชิญนิคมอุตสาหกรรม  ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (สหรัตนนคร) 4.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 5.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย เข้าร่วมด้วย