วันที่ 10 ก.ค.67 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลัง สภากทม. มีมติรับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... และกำหนดตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาภายใน 60 วันนับจากนี้ว่า การเสนอข้อบัญญัติในวันนี้ เพื่อเลื่อนการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ออกไป เนื่องจาก กทม.ได้ปรับปรุงข้อบัญญัติเรื่องลดค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะเดิมให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีแรงจูงใจในการคัดแยกมากขึ้น ซึ่งข้อบัญญัติเดิม ค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมีอัตราเท่ากัน ไม่ว่าจะมีการคัดแยกหรือไม่คัดแยกก็ตาม แต่สาระสำคัญของข้อบัญญัติใหม่นี้จะลดค่าจัดเก็บแก่ผู้แยกขยะ ส่วนผู้ไม่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียมในอัตราสูงขึ้น เช่น จาก 20 เพิ่มเป็น 60 บาท เป็นต้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่ช่วยให้ กทม.มีรายได้เพียงพอต่อการจัดการขยะ ซึ่งปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายปีละ 7,000 ล้านบาท ขณะที่ กทม.เก็บค่าธรรมเนียมได้ 500 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จุดประสงค์การจัดทำข้อบัญญัติค่าทำเนียมจัดเก็บขยะอัตราใหม่ ต้องการลดปริมาณขยะ เพื่อลดต้นทุนในการจัดการขยะ สามารถแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ปัจจุบันห้างร้านรายใหญ่มีการจัดการขยะของตัวเองมากขึ้นโดยไม่ส่งให้ กทม.จัดเก็บ เช่น มีการแยกขยะไปขายตามกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดขยะของเมืองได้ ส่วนผู้ประกอบการที่มีขยะจำนวนมาก และไม่แยกขยะ อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า
"เหตุผลที่เลื่อนข้อบัญญัติการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ในวันนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยต้องเสียค่าจัดเก็บถึง 4 เท่า ถึงแม้จะมีการแยกขยะ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการคัดแยก จุดประสงค์ของข้อบัญญัติใหม่คือ สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กในการคัดแยกขยะ เพื่อเสียค่าธรรมเนียมน้อยลง ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่คิดราคาตามปริมาณขยะ เพราะมีการคัดแยกอยู่แล้ว น่าจะเป็นแรงจูงใจในการคัดแยกขยะมากขึ้น คาดว่าข้อบัญญัติใหม่จะผ่านการพิจารณาจากสภากทม.ครบถ้วน ก่อนออกประกาศราชกิจจานุเบกษา และประกาศใช้ต่อไป"
นายชัชชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.มีนโยบายกำหนดเป้าหมาย 31 ข้อให้ทั้ง 50 สำนักงานเขต ร่วมดำเนินการในปี 2568 เรื่องการจัดเก็บขยะถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ กทม. มีการตั้งเป้าจัดเก็บขยะสัปดาห์ละ 2 ครั้ง วัดการวิ่งรถจาก GPS มากกว่า 70% และเชิญชวนสถานประกอบการ 2,500 แห่ง เข้าร่วมคัดแยกขยะ กำหนดเป้าแยกขยะอินทรีย์ จำนวน 500 ตัน/วัน รวมถึงการจัดตั้งจุดทิ้งขยะส่วนกลางในหมู่บ้าน จำนวน 986 จุด โดยเฉพาะการแยกขยะอินทรีย์ 500 ตัน/วัน เชื่อว่าสามารถทำได้ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะ รวมถึงรถจัดเก็บขยะของ กทม.ต้องมีความพร้อมเรื่องถังแยกขยะอินทรีย์ และหากเป็นไปได้ควรมีถังแยกขยะอินทรีย์ที่มีฝาปิดสำหรับประชาชนด้วย นอกจากนี้ควรมีการแนะนำให้ประชาชน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหมักขยะอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป โดยไม่ต้องนำมาทิ้งให้ กทม.จัดเก็บ จะช่วยลดขยะ และลดต้นทุนในการจัดการขยะของ กทม.ได้มากขึ้น