วันที่ 10 ก.ค.67 เวลา 13.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ ชั้น 2 อาคาร เอ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม/โฆษกกระทรวงยุติธรรมฝ่ายการเมือง พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ/โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้า คดีหุ้น STARK
พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ระบุว่า ในคดีนี้อัยการได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 11 คน และทุกคนก็อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยดีเอสไอได้ขยายผลต่อจนพบว่ามีการโอนถ่ายเททรัพย์สินจากการกระทำผิดให้บุคคลใกล้ชิด ผู้ต้องหา 7 ราย เป็นผู้ต้องหาใหม่ 5 ราย และอีก 2 รายเป็นผู้ต้องหาชุดเดิมใน 11 รายแรก พบว่าบางรายการมีการโอนเงินประมาณ 50 ล้านบาท ถึง 100 ล้านบาท รวมแล้วทั้งสิ้น 380 ล้านบาท โดยพบว่าเงินดังกล่าวยังอยู่กับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย และ 7 รายนี้ มี 2 ราย ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงินไปแล้ว ส่วนอีก 5 คน อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และจะเรียกมาพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาในภายหลัง
สำหรับบุคคลที่รับโอนเงินจากกลุ่มผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจะประชุมกัน และจะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ในการออกหมายเรียก
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้มีการยึดทรัพย์ 3,245 ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ถูกโกงไป โดย ปปง. ได้ประกาศให้มีการยื่นขอคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหาย ซึ่งได้ประกาศเป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายื่นขอรับการคุ้มครองรวมทั้งสิ้น 4,724 ราย แบ่งเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มหุ้นกู้, หุ้นเพิ่มทุน, หุ้นสามัญ มูลค่าความเสียหายตามคำร้องที่มีการยื่นเข้ามา 15,900 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อมีมติยื่นเรื่องไปยังพนักงานอัยการ และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลฯ ขอให้มีการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายที่ได้ยื่นขอคุ้มครองสิทธิ์ต่อไป สำหรับผู้เสียหาย 4,724 ราย ที่มาลงทะเบียน ทาง ปปง.คาดว่า น่าจะเป็นจำนวนของผู้เสียหายทั้งหมด แต่ถ้าหากมีผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะพิจารณาประกาศยื่นขอคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายอีกครั้ง
ด้านโฆษก ปปง. บอกว่า สำหรับมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 15,900 ล้านบาท แต่ ปปง.สามารถตามยึดทรัพย์กลับมาได้แค่ 3,000 กว่าล้านบาทนั้น โฆษก ปปง. ชี้แจงว่า คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งกว่าที่ DSI และปปง.จะทราบเรื่องก็ใช้เวลา 1-2 ปี อีกทั้งกลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายผู้ต้องหาเป็นคนที่มีความรู้ มีการเตรียมพร้อมมาพอสมควรในการโยกย้ายทรัพย์สินต่างๆ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ ปปง.อยู่ระหว่างการติดตามทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
สำหรับกรณีการแต่งตั้งนายพิชัย นิลทองคำ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลาย เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าเนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเห็นว่าคดีหุ้นสตาร์คมีผู้เสียหายและทุนทรัพย์จำนวนมากส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรง ซึ่งการตั้งคณะกรรมการชุดนี้เป็นการศึกษารวบรวมการเกิดกระบวนการในคดีนี้ผู้เกี่ยวข้องในคดีเพื่อรวบรวมเป็นบทเรียน สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำอีก พร้อมยอมรับว่าการดำเนินการของคณะทำงานจะไม่เกี่ยวข้องและซ้ำกับการดำเนินคดี ขณะที่สำนวนที่ยังค้างอยู่ในดีเอสไอคือคดีฟอกเงินซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความชัดเจนในการสืบสวนต่อไป นายพิชัยเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลล้มละลายซึ่งมีความรอบรู้เกี่ยวกับกระบวนการลงทุน ดำเนินธุรกิจ เชื่อว่าคุณสมบัติของนายพิชัยจะ มีประโยชน์ในการรวบรวมหลักฐานและประจักษ์พยานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในอนาคต
ส่วนที่บอกว่านายพิชัย มีการเกี่ยวข้องในคดีต่างๆ นั้น ยืนยันว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการไม่ได้แทรกแซงการดำเนินคดีของหุ้นสตาร์ค ขณะที่นายพิชัยได้แสดงเจตนาขอถอนตัวต่อคณะกรรมการและ รมว. ยุติธรรมเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย โดยประธานคนใหม่ของคณะกรรมการชุดนี้คือนาย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี
#ข่าววันนี้ #DSI #ปปง #STARK