ต่างชาติถือครองที่ดิน 99 ปี หนุนอสังหาฯฟื้นตัว คลังเล็งถก ธปท.ทบทวนหลักเกณฑ์ LTV

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ”พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน” ในงานสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ที่จัดโดย บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ เอนโก้ว่า จะมีการเข้าหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเจรจาถึงแนวทางการปรับแก้เกณฑ์ของมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan to Value: LTV โดยกล่าวว่าต้องเข้าใจถึงเหตุการณ์ของการกำหนด LTV นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่หนี้เสีย (NPL) ไม่หนักหนาขนาดนี้ วันนี้หลายเรื่องหนักหนาขึ้นคาดว่าการเข้าหารือนี้ก็จะมีการอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อว่านายเศรษฐพุฒิ ก็จะมีข้อมูลที่ทันสมัยขึ้น และอาจจะเป็นแนวคิดใหม่ๆ ต้องเข้าไปเจรจาว่ามีความคิดเห็นอย่างไรที่จะแก้ไขเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านผู้ซื้อและผู้ขาย ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจในประเทศในปัจจุบันยังมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง และการพัฒนาอสังหาฯต้องพึ่งพาเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็พัฒนาต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหาในส่วนของผู้ซื้อนั้นคือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ โดยปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเป็น NPL เพิ่มขึ้นกว่า 3.5% และหากรวมกลุ่มหนี้ที่เป็น Special mentions (SM) อีกเกือบ 5% จะเห็นว่าหนี้เสียมีโอกาสเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 8% ในขณะที่ผู้ขายนั้นได้รับผลกระทบในด้านของช่องทางการขายที่น้อยลงเนื่องจากไม่สามารถจะขอผ่านสินเชื่อให้กับผู้ซื้อรายใหม่ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญของประชาชนในประเทศ

ขณะที่ในส่วนของภาครัฐจำเป็นจะต้องไปมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาให้กับภาคผู้ซื้อก่อนที่ปัจจุบันมียอด NPL สูง โดยผ่านมาตรการที่ได้ดำเนินงานไปแล้วผ่านธนาคารรัฐอย่าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนในด้านของผู้ขายวันนี้คงต้องหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การที่จะทำให้ภาคอสังหานั้นไปต่อได้จะต้องมีภาพรวมของดีมานด์จากต่างประเทศเข้ามาให้มากขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านอสังหาฯ ซึ่งต้องไปศึกษาและเรียนรู้โมเดลเหล่านั้นเพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินงานในประเทศ เพื่อให้สามารถตอบสนองกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

สำหรับแนวทางทรัพย์อิงสิทธิที่ขยายระยะเวลาการถือครองของชาวต่างชาติเป็น 99 ปีนั้น ในต่างประเทศก็ทำ แต่การเรียกอาจจะไม่เหมือนกันซึ่งในประเทศไทยหากอธิบายง่ายๆคือที่ดินก็ยังเป็นของคนไทยอยู่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิทธิที่อิงกับทรัพย์นั้นเป็นของผู้ใช้ เพราะฉะนั้นใครที่เข้ามาใช้แนวทางดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์ แต่มีสิทธิ์ที่จะใช้พื้นที่ตามอำนาจที่ตกลงกันภายใต้เงื่อนไขว่าสามารถนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง และจริงๆแทบจะไม่มีอะไรเลยต้องแก้ไขเพียงแต่ขยายระยะเวลาถือครองและกำหนดว่ามีสิทธิ์ใช้ในด้านใด และกำหนดโซนนิ่งให้ชัดเจนเพื่อให้เป็นประโยชน์จริงๆ เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจด้านอสังหาฯนั้นฟื้นตัวขึ้นมาได้เนื่องจากกำลังซื้อของชาวต่างชาตินั้นยังมีสูงอย่างต่อเนื่อง

#ข่าววันนี้ #ที่ดิน99ปี #อสังหา #แบงก์ชาติ #สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย