วันที่ 10 ก.ค.67 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม ครั้งที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นายปวิน แพทยานนท์ สภาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม ได้ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง ความคืบหน้าในการจัดสวัสดิการของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จากเหตุเพลิงไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ ซอย 7 ถนนเยาวราช แขวงและเขตสัมพันธวงศ์ กทม.และเพลิงไหม้หลายครั้ง จะเห็นได้ว่า อปพร. เข้าไปให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจากสาธารณภัยในรูปแบบต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้การปฏิบัติงานของ อปพร. มีความเสี่ยงอันตราย แต่ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งควรได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือในการออกปฏิบัติงานที่ทันสมัย ชุดเครื่องแบบปฏิบัติงาน และการจัดให้มีการฝึกอบรมโดยผู้ชำนาญการอย่างต่อเนื่อง
จึงขอสอบถามผู้ว่าฯกทม.ถึงความคืบหน้าในการจัดสวัสดิการของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใดและมีผลบังคับเมื่อใด และ อปพร. จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นและได้รับสวัสดิการอื่น ๆ อาทิ ชุดเครื่องแบบ เมื่อใด อย่างไรก็ตามขอให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดดำเนินการการจัดสวัสดิการให้กับ อปพร. เนื่องจากเรื่องนี้ตนเคยยื่นญัตติแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.66 ปัจจุบันยังไม่ทราบความคืบหน้าใด
ด้านนางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยอมรับ เรื่องนี้มีความล่าช้า เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนและสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คำนึงถึงสถานะการเงิน และการสำรวจข้อมูลจำนวน อปพร.ที่แน่ชัด ปัจจุบันสำรวจพบ 26,500 คน จำเป็นต้องสำรวจเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเพื่อกำหนดค่าชุด โดยจะมีการจัดระเบียบ อปพร.ทั้งหมด จำแนกเป็นหมวดหมู่ตามหน้าที่เกี่ยวข้อง และจะเริ่มใช้วิธีสำรวจจากการนับจำนวนบัญชีแรกเข้าและการเข้ารับการฝึกอบรมของ อปพร.เป็นหลัก
ที่ผ่านมา กทม.ดำเนินการเรื่องนี้มาตลอด เริ่มจาก ปี 2554 กทม.มีข้อบัญญัติเรื่องค่าใช้จ่าย อปพร. พ.ศ.2552 ในปี 2560 กระทรวงมหาดไทยจัดทำระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทน อปพร. ในปี 2564 กทม.จึงตั้งคณะทำงานยกร่างและแก้ไขข้อบัญญัติเกี่ยวกับค่าตอบแทน อปพร. และมีการเร่งรัดการดำเนินการเรื่อยมา เช่น การขึ้นทะเบียนข้อมูล อปพร. การขึ้นทะเบียนงบประมาณ ปัจจุบัน ปี 2567 ขั้นตอนอยู่ระหว่าง กทม.ส่งประมาณการงบประมาณให้สำนักการคลังพิจารณา ซึ่งพิจารณาการใช้งบประมาณจาก 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ค่าตอบแทน อปพร.เฉพาะผู้ปฏิบัติงานศูนย์ วิทยุ อปพร. จำนวน 14,932,800 บาท 2.ค่าป่วยการชดเชย จำนวน 1,228,800 บาท 3.ค่าชุด อปพร. (รวมส่วนประกอบของชุด) จำนวน 17,850,000 บาท 4.ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 3,060,000 บาท รวมทั้งหมด 37,071,600 บาท โดยคาดว่าระเบียบเรื่องค่าตอบแทนและค่าชุดต่าง ๆ จะแล้วเสร็จภายในปีนี้