จากกรณีที่เกิดความเห็นต่างเกี่ยวกับกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยจะต้องเสียพื้นที่เดิมที่มีอยู่ไปกว่า 265,000 ไร่ ต่อมาได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นกระแส #Saveทับลาน ติดเทรน X อันดับหนึ่งนั้น

ล่าสุด วันนี้ 9 ก.ค.67 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า... เรื่อง การกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน (2524 vs 2543) นี่ .. มันค่อนข้างซับซ้อน และควรพิจารณาในรายละเอียด เป็นจุดๆ ไปนะ ผมว่า


คือเรื่องนี้ ก็ไม่ค่อยมีความรู้มากอะไร และก็กะจะลอยตัวเหนือดราม่า (ฮะๆ) แต่มีหลายคอมเม้นต์อยากให้สรุปข้อมูลหน่อย ว่ามันยังไงก็แน่ .. เลยลองหามาตามนี้ครับ (แต่ไม่ได้บอกว่า เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย นะครับ)


สรุปแบบคร่าวๆ ก่อน : คือมันมีแผนที่เดิม แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ประกาศเมื่อ ปี พ.ศ. 2524 (รูปประกอบ บน - แนวเส้นสีแดง , รูปล่าง - แนวเส้นสีดำ) 
ทีนี้ ก็มีปัญหาเรื่องการใช้แผนที่นี้ ซึ่งทับซ้อนกันกับพื้นที่อาศัยเดิมของชาวบ้าน และกับพื้นที่ของหน่วยงานอื่นๆ ทำให้มีการศึกษาและกำหนดแนวเขตควบคุมอุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ ในปี พ.ศ. 2543 (รูปบน - แนวเส้นน้ำเงิน , รูปล่าง พื้นที่สีฟ้า)


ประเด็นตามมาคือ ในขณะที่พื้นที่อุทยานทับลาน มีบางส่วนที่ "เพิ่มมากขึ้น" ตามแผนที่ใหม่ แต่ก็มีบางส่วนที่ "ลดลง" (ดูรายละเอียดในภาพ จะเห็นว่ามีหลายเคส หลายประเด็นมาก) ซึ่งภาษาทางการคือ "การเพิกถอนพื้นที่อุทยาน"


.. ซึ่งก็คงต้องไปถกเถียงกันต่อไปว่า แต่ละจุดๆ นั้นเหมาะสมแค่ไหน ? นะครับ  (แต่จะเห็นว่า การใช้คำว่า "เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ" นั้น ทำให้เกิดอารมณ์ดราม่า ที่เกินจริงมากไปหน่อย กับเรื่องนี้ครับ) 

ข้อมูลพื้นฐาน ที่พอหามาได้
- ปี พ.ศ. 2506 มีมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้พื้นที่นี้ เป็นป่าไม้ถาวร สงวนไว้เพื่อการคุ้มครองพื้นที่ป่า โดยภาพถ่ายทางอากาศขณะนั้น แทบไม่พบการใช้ประโยชน์ในบริเวณนั้น ยกเว้นส่วนที่อยู่ในวังน้ำเขียว

- พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่ป่าสงวนมาก่อน และมีการจัดสรรให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และชุมชนโดยรอบ ไปใช้ประโยชน์ทำกินด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเกิดปัญหาการทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน มายาวนานกว่า 40 ปี 

- 14 มี.ค. 2566 มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000  ที่ให้ดำเนินการใช้ เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี

-  25 ม.ค. 2567 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประชุมรับทราบ การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. 14 มี.ค. 2566 โดยเสนอให้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร ในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
- 28 มิ.ย . ถึง  12 ก.ค. 2567 กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดรับฟังความคิดเห็น การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

- กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่ พ.ศ.2524 ทับซ้อนที่ดิน จนได้รับความเดือดร้อน ทำไร่หรือปลูกสร้างอะไรก็ยาก ทำมาหากินก็ลำบาก จึงอยากให้ยึดตามแนวเขตปี  พ.ศ. 2543 

- แต่ก็มีข้อมูลว่า ในเขตพื้นที่ทับลาน มีประชาชน 3 กลุ่ม ที่ทับซ้อนกันอยู่ในเขตพื้นที่ตรงนี้ คือ 

1. ประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ เมื่อปี พ.ศ. 2524 
2. ประชาชนที่ได้รับ ส.ป.ก. และอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก. 
และ 3. กลุ่มที่เข้ามาหลังประกาศเขตอุทยานฯ และทำให้เกิดคดีความ กว่า 400 คดี ที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่

- ส่วนฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้ "เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543" เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสภาพอุทยานฯ จากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และไม่มั่นใจว่าราษฎรที่ได้รับประโยชน์นั้น จะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ไปอยู่ในมือของนายทุนหรือไม่ 

- รวมทั้ง ตั้งข้อสงสัยว่า การทำเช่นนี้จะขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และเพิ่มความรุนแรงความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น