เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 09 กรกฎาคม 2567 ที่บริเวณริมคลองท่าแร้ง หน้าวัดยกกระบัตร หมู่ที่ 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว นางขวัญดาว สุมนัส นายกเทศมนตรีตำบลหลักห้า นายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมเรืออวนลาก จังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่8 พันธมิตรทั้งในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานปลาป่น แพปลา ชาวประมงเรืออวนรุน และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติปลาหมอคางดำ เข้าร่วมเปิดปฏิบัติการดีเดย์ “ลงแขก ลงคลอง ครั้งที่ 1” รวมพลนักล่า กำจัดวายร้ายปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก
สำหรับกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำ” นี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่พบปลาหมอคางดำ หรือ สิ่งมีชีวิตอันตราย ที่ถูกขนานนามว่า เอเลี่ยนสปีชี่ส์ ในแหล่งน้ำทุกประเภททั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ขณะนี้พบการแพร่ระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมกันตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำให้สิ้นซาก ทางประมงจังหวัดสมุทรสาครจึงได้จับมือกับพันธมิตร จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในจังหวัดสมุทรสาคร อีกทั้งยังเพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย ซึ่งจังหวัดสมุทรสาคร นับเป็นจังหวัดต้นแบบที่นำร่องในเรื่องของการกำจัดปลาหมอคางดำได้มากที่สุดในประเทศไทย โดยกิจกรรมฯ ก็มีทั้งการใช้เรืออวนรุนลงล่าปลาหมอคางดำ การตั้งโต๊ะรับซื้อ ระดมอาวุธครบมือ เช่น แห อวน ข่าย อวนรุน ฯลฯ รวมถึงการรับประทานอาหารเมนูปลาหมอคางดำ ร่วมกันของผู้เข้าร่วมปฏิบัติการพิฆาตปลาหมอคางดำ
ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ได้เห็นลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และรับทราบปัญหาความเดือดร้อยของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งนี้จึงได้ให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ และหลังจากนั้นก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา โดยมีนายอรรถกร สิริรัถยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ และได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ให้ขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมงในการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้มีผลการปฏิบัติงานที่เด่นชัด คือ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 67 ถึง สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปได้แล้ว 470,000 กว่ากิโลกรัม ส่วนเรื่องของการของบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่การดำเนินงานในช่วงแรกสิ้นสุดลงแล้วนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางประมงจังหวัดสมุทรสาคร ว่าจะเสนอโครงการไปถึงอธิบดีกรมประมงอย่างไร เพื่อนำสู่การพิจารณาอนุมัติงบเพิ่มเติมต่อไป
นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ณ ปัจจุบันนี้ เริ่มจากการให้เรืออวนรุนที่เดิมใช้รุนเคย มาช่วยกันรุนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเรืออวนรุนนี้เป็นเรือที่มีเครื่องมือเหมาะสมต่อการกำจัดปลาหมอคางดำมากที่สุด โดยหลังจากที่ดำเนินการมานั้น ก็นับได้ว่าจังหวัดสมุทรสาครมีการจับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติได้มากที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ขยายการกำจัดไปยังบ่อเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำ ที่ปลาหมอคางดำหลุดเข้าจนทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา กุ้ง ได้รับความเดือดร้อน ส่วนคนที่จะนำปลาหมอคางดำมาขายได้นั้น ก็จะต้องมีการขึ้นทะเบียนก่อน ว่าเป็นผู้ได้รับการอนุญาตให้จับปลาหมอคางดำ หรือเป็นผู้ที่เดือดร้อนจากการรุกพื้นที่ของปลาหมอคางดำ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกร โดยปลาหมอคางดำที่แพปลารับซื้อมาแล้วนั้น ก็จะส่งเข้าโรงงานปลาป่น 2 แห่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป.