การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ปี 2568 ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน พร้อมวางกลยุทธ์เพื่อจุดพลังการท่องเที่ยวไทยที่มีคุณภาพ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 8-11 ก.ค. และเตรียมแถลงแผนปฏิบัติการต่อภาคเอกชนท่องเที่ยวในวันที่ 15 ก.ค. สอดรับปีแห่งการท่องเที่ยวไทย 2568 ตามที่รัฐบาลประกาศผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อยกระดับสู่จุดหมายปลายทางระดับโลก

นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ประธานกรรมการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยยิ่งใหญ่ที่สุด (Thailand Grand Tourism Year 2025) นับตั้งแต่ประเทศไทยโปรโมตการท่องเที่ยวมา ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ยกระดับภาคการท่องเที่ยวไปสู่บทใหม่ ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ IGNITE TOURISM THAILAND หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการดึงอีเวนต์ขนาดใหญ่เข้ามาจัดในไทย พร้อมทำแพ็กเกจท่องเที่ยวเจาะกลุ่มความสนใจเฉพาะแบบพิเศษ (Tailor-Made) เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคน เช่น กลุ่มสูงวัย และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ดังนั้นแผนปฏิบัติการปี 2568 ของ ททท. จึงควรสอดรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว หรือ Customer Journey  

ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ตั้งเป้าหมายในปี 2568 สร้างรายได้รวมเพิ่มจากที่ทำได้ในปี 2567 อีก 7.5%  ถึง 10% ขึ้นไป ถ้าดูจากเป้าหมายการทำงานของ ททท.ในปี 2567 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ดังนั้นในปี 2568 น่าจะอยู่ที่ประมาณ  3.4 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 55,000-57,180 บาทต่อคน และตลาดไทยเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 220 ล้านคน-ครั้ง ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 4,000 บาทต่อคน

โดยตัวเลขที่ ททท.ตั้งเป้าหมายอยู่ภายใต้คำของบประมาณปี 2568 วงเงิน 6,236 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบโครงการและกิจกรรม 4,345 ล้านบาท นอกจากนี้ในปี 2568 ตั้งเป้าหมายรายได้ของเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) เพิ่มขึ้นประมาณ 25% โดยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงเข้ามามากขึ้น

 

ทั้งนี้ นางสาวฐาปนีย์ ยังกล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายแผนปฏิบัติการปี 2568 แก่ที่ประชุมฯ เป็นรายกลุ่มตลาด  ด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เจาะกลุ่มตลาดดาวฤกษ์ที่มีฐานนักท่องเที่ยวสูง และกลุ่มตลาดดาวรุ่งที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ด้วยสินค้าการท่องเที่ยวหรือแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่เพื่อรักษาสัดส่วนตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล  

ส่วนตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ เน้นในตลาดหลักในทุกมิติ ทั้งจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน ส่วนกลุ่มที่มีโอกาสเติบโต เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเจาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเชิงรุก ทั้งมาเลเซีย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยยังเห็นว่า ตลาดระยะใกล้ช่วยกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง  

พร้อมกันนี้ นางสาวฐาปนีย์  ยังกล่าวถึงตลาดในประเทศ ว่า จะมีแคมเปญส่งเสริมตลอดปี 2568 ควบคู่กับการนำเสนอเสน่ห์ไทยและสิ่งที่ต้องทำในเมืองน่าเที่ยว พร้อมกระจายนักท่องเที่ยวทั้งในเชิงพื้นที่และช่วงเวลาการเดินทาง เชื่อมั่นว่าตลาดไทยเที่ยวไทยยังคงช่วยพยุงเศรษฐกิจจากวิกฤติต่างๆ ให้แก่ประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องขอให้กระตุ้นทุกช่วง

ขณะที่การสื่อสารการตลาดยังมุ่งพัฒนาคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวให้เห็นแล้วรู้สึกน่าสนใจ น่าติดตาม และเกิดการแชร์ พร้อมเพิ่มสปีดความเร็วในการรับสาร สื่อสาร และส่งสารมากขึ้นเพื่อโน้มน้าว จูงใจ หรือชี้นำตลาดด้านการท่องเที่ยวได้ รวมถึงสามารถเผยแพร่หรือบริหารจัดการประเด็นด้านการท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงที สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม นางสาวฐาปนีย์ ยังกล่าวถึงความท้าทายในอนาคตที่ประกอบไปด้วย  5C  คือ 1.Climate Change สภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว ส่งผลต่อการออกแบบสินค้าและบริการที่ต้องตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 2.Cost of Living วิกฤติค่าครองชีพส่งผลต่อการตลาดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการทำตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย 3.Computer Distortion การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี ทำให้ ททท.ต้องนำเทคโนโลยี AI มาใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว 4.Cartographic Politic การแบ่งขั้วและการฝักใฝ่ทางสังคมหรือการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อท่าทีในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ 5.Cyber Hacking การโจมตีทางไซเบอร์เข้าสู่ระบบสารสนเทศของหน่วยงาน จะเป็นภาพที่เห็นได้ชัดมากขึ้นในอนาคต

ดังนั้นทาง ททท.จึงต้องเดินหน้าทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง มุ่งรักษาฐานลูกค้าเดิม เพิ่มเติมลูกค้าใหม่ ขยายความเชื่อมเกี่ยว แสดงให้เห็นถึงไอเดียและวิธีการใหม่ๆ  เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืนต่อไป