เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เทพไท - คุยการเมือง" ระบุว่า ขอบคุณ “เสรีพิศุทธ์”พูดเรื่อง“ทักษิณ”
5 กลุ่ม รุมทึ้ง กกต.
หลังจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีประชุมรับเพื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งส.ว. 200 คนแล้ว ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะมีเสียงเห็นต่างกับการรับรอง จึงทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไปท่ามกลางความเห็นที่หลากหลาย เกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ว. ในครั้งนี้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ว.แล้วทุกคน พยายามเร่งรัดให้ กกต.รับรองผลโดยเร็วที่สุด
2.กลุ่มผู้สมัครที่พลาดโอกาส ได้พยายามหาหลักฐานขึ้นมาคัดค้านการรับรองผล ฟ้องศาล แฉหลักฐานความไม่ชอบมาพากล ออกมาเรื่อยๆ ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
3.กลุ่มส.ว. ที่กำลังหมดอำนาจไป ก็เคลื่อนไหว แฉพฤติกรรมการฮั้ว การบล็อกโหวต ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาตรวจสอบการเลือกส.ว. เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการรับรองส.ว. ทำให้ส.ว.ชุดเดิมสามารถรักษาการต่อไปได้อีก
4.กลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ที่ต่อต้าน คสช. รู้สึกเบื่อหน่ายกับบทบาทของส.ว. ปัจจุบัน อยากให้รีบรับรอง ส.ว. ชุดใหม่ไปก่อนค่อยสอยทีหลัง เพื่อเข้าทำหน้าที่แทนที่ส.ว. ชุดเก่าโดยเร็วที่สุด
5.กลุ่มประชาชนทั่วไป ที่มีความเห็นว่า กกตจะรับรองส.ว. ชุดใหม่ก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผลชัดเจนว่า ถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากข้อสงสัย ก็ให้รับรองไปแต่ถ้ายังมีข้อเคลือบแคลง มีเหตุอันควรสงสัย ก็ไม่ควรรับรอง ให้ว่าไปตามพฤฒิกรรมแต่ละบุคคล
ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าตรวจสอบแล้วมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ทุจริต ไม่โปร่งใส บล็อกโหวต จัดตั้งบุคคลมาลงคะแนนกัน เกิน 100 คนให้ยกเลิกการเลือกตั้งส.ว. ครั้งนี้ เพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้ามีผู้ทำการทุจริตจำนวนไม่กี่คน ก็ให้รับรองเป็นรายบุคคลไปก่อน
อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ากกต.ให้ใบแดงกับผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ว.ไปแล้ว และมีการขยับรายชื่อผู้สำรองขึ้นมาแทน มีผู้สำรองบางคนก็อยู่ในกลุ่มบล็อกโหวตเช่นเดียวกัน เพียงแต่ผิดพลาดทางเทคนิค ไม่ได้เข้ารอบ 10 คน จึงอาจจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้เช่นเดียวกัน
ผมเชื่อว่าการที่ กกต.ยังไม่สามารถมีมติไปในทางเดียวกันได้ น่าจะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเตรียมฟ้องมาตรา 157 จากหลายฝ่าย ซึ่งเคยเป็นบทเรียนในอดีต ที่ กกต.เคยติดคุกมาแล้ว คงเกิดความกลัว ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง