วันที่ 8 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติเรื่องขอเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือกสมาชิกสมาชิกวุฒิสภา ตามที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นผู้เสนอ พร้อมชี้แจงเหตุผลในการเสนอญัตติว่า ยืนยันว่าสว.ชุดนี้ จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสว.ชุดใหม่ เรากำลังรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ตรวจสอบอย่างถูกต้อง สุจริต เที่ยงธรรม ก่อนประกาศรับรอง ตนยืนยันว่าไม่มีเจตนายื้อเวลา อยากอยู่ต่อเหมือนที่มีการกล่าวหาให้ร้ายกันในสังคม เราเพียงทำตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้สมศักด์ศรีก่อนส่งต่อให้สว.ชุดใหม่

เหตุผลที่ตนเสนอญัตติขอให้ตั้งกมธ.วิสามัญฯดังกล่าว เพื่อให้มีการถอดบทเรียนใน 3 ประเด็น 1.วัตถุประสงค์ของการเสนอญัตติ เนื่องจากพบปัญหาความไม่ชอบมาพากล ที่ตนเคยนำเสนอไปแล้วอาทิ ผู้สมัครสว.ตาม 20 กลุ่มอาชีพที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ สมัครไม่ตรงกับกลุ่มอาชีพที่กำหนด เนื่องจากกกต.ไปออกประกาศขยายความต่อจากตำแหน่งที่ระบุตามกลุ่มอาชีพว่า ตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง จึงเป็นต้นเหตุของปัญหา ส่งผลให้ผู้สมัครที่มีอาชีพตรงกับกลุ่มอาชีพทั้ง20อาชีพจริงๆนั้นตกรอบ ถือเป็นสิ่งที่บิดเบี้ยว

นอกจากนี้ยังมีการจัดเลี้ยงของสส.2รายจากพรรคการเมืองหนึ่ง ในช่วงการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสว. พบว่ามีผู้สมัครสว.ที่เป็นน้องสะใภ้ กับผู้สมัครสว.อื่นคนไปร่วมงานจัดเลี้ยง รวมถึงโพยก๊วนฮั้วเลือกสว. และยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ด้วย เป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.ที่ต้องตรวจสอบ

นายสมชาย กล่าวต่อว่า 2.ในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆที่มีการร้องเรียน เช่น มีการลงคะแนนลับจริงหรือไม่ มีการบล็อคโหวตจริงหรือไม่ การออกระเบียบดังกล่าวมีผู้กระทำผิดบางประการที่อาจยังไม่ได้ตรวจสอบหรือไม่ โดยจะศึกษา และเป็นข้อเสนอในเชิงวิชาการเท่านั้น ไม่ไปก้าวล่วงการทำงานของกกต. เราทุกคนเก็บของนานแล้ว คืนกุญแจคืนวัสดุหมดแล้ว แต่ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสว.ชุดใหม่ ทั้งนี้ ตนในฐานะที่เคยเป็นเลขานุการติดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตลอดระยะเวลา5ปี และมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสว. ตนมีความเห็นในเชิงกฎหมายว่า การรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังทำไม่ได้ เนื่องจากมาตรา107 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสว. ไม่ได้ระบุไว้ ไม่เหมือนกับกฎหมายลูกของสส. ที่เปิดช่องให้รับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลังได้

ขณะเดียวการเตรียมสำรองรายชื่อสว.ไว้เพื่อเลื่อนลำดับ ในกรณีที่มีการสอยทีหลัง เป็นอำนาจของประธานวุฒิสภา ไม่ใช่อำนาจของกกต. หากกกต.ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการเลือกสว. ถูกต้องสุจริต เที่ยงธรรมแล้ว สามารถประกาศรับรองได้เลย เราก็ทำหน้าที่จนถึงวันนั้น วันรุ่งขึ้นก็พ้นไป


นายสมชาย กล่าวด้วยว่า และ3.กมธ.วิสามัญฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่จะเชิญมาร่วมจาก4คณะกมธ.ฯ ได้แก่1.กมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2.กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และตำรวจ 3.กมธ.บริหาราชการแผ่นดิน4.กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้จะเชิญบุคคลสำคัญภายนอกที่เคยเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 2550 2560 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกสว. อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตกรธ. นายคมสัน โพธิ์คง นักกฎหมาย เป็นต้น จะมาร่วมเป็นกมธ.ฯ ทั้งนี้ หากเรามีโอกาสดำเนินการศึกษาได้ตามระยะเวลา30วัน เราจะมีข้อเสนอถอดบทเรียนไปยังคณะที่จะมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รวมถึงคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) และสว.ชุดใหม่ที่จะมารับหน้าที่ต่อเพื่อที่ได้ไปศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างการเลือกสว.ปี62 และปี67 ที่มีความแตกต่างกัน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

“คณะกรรมาการวิสามัญฯถ้าเราได้รับความเห็นชอบในการตั้งขึ้น เราจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา ผู้ร้อง หรือผู้สมัครที่มีปัญหา สามารถส่งเรื่องมายังกมธ.วิสามัญฯได้  ผมยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการทำหน้าที่ครบตามรัฐธรรมนูญ อย่างไม่มีเหตุจูงใจแอบแฝงแต่ประการใด” นายสมชาย ระบุ



ต่อมานายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. อภิปรายว่า ตนขอขอบคุณประธานที่กล้าหาญในการเปิดประชุม ดังนั้น เป็นหน้าที่และอำนาจของพวกเรา สว.ชุดเรา ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ โดยเฉพาะ สว.กิตติศักดิ์ ความรู้น้อย เป็นเด็กบ้านนอก เป็นผู้เฒ่า อยากจะบอกว่าที่ สว.ใหม่ ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ดังนั้นว่าที่ สว.ใหม่ ที่มาตำหนิติเตียนกรุณา "หุบปากเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ใคร ผมไม่ก้าวก่าย"

ทำให้นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาพูดกัน แต่นายกิตติศักดิ์ ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าคนที่ออกมาตำหนิ "ให้หุบปากและนั่งลงซะ ทุกคนมีศักดิ์ศรี ผมไม่ได้ว่าว่าที่ สว. 200 คน เราให้เกียรติท่าน แต่ในวันนี้ เราปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ อย่างถูกต้อง ดังนั้น การที่จะถูกใครก็ตามที่จะ ตำหนิติเตียนพวกเรา ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพวกเราไม่ได้ยึดติด ไม่อยากที่จะอยู่โดยที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่"

นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า ตนคิดว่าหากเอากันตรง ๆ กกต. กล้าๆหน่อย อย่าปากกล้าขาสั่น ตนกลัวอย่างเดียวว่า กกต. ไม่รับรอง แล้วเราต้องปฏิบัติหน้าที่แบบนี้ต่อไป

 

"นี่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ หากเรายังรับเบี้ยเลี้ยงรับเงินเดือนอยู่ แล้วไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้ ตนคิดว่า เอาเปรียบงบประมาณแผ่นดิน แต่ในเมื่อเราปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ อภิปรายทุกนาที ทางสภาฯต้องจ่ายเงินให้ สว.กิตติศักดิ์ ผมคิดว่า การปฏิบัติหน้าที่ สว.ใหม่นั้น เรายินดี ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาจะเจริญรุ่งเรือง แต่หากเข้ามาแล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา ผมบอกไว้เพียงอย่างเดียวว่า อาจจะมี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใหม่" นายกิตติศักดิ์ กล่าว