ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 นายแพทย์ยุทธนา สุริยะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธรออกแถลงการณ์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรกรณีพบผู้เสียชีวิตจากเห็ดพิษ รายที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดยโสธรตามที่จังหวัดยโสธร พบผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ เมื่อวันที่ 6กรกฎาคม 2567 จำนวน 1 ราย ผู้เสียชีวิต เป็นเพศชาย อายุ 46 ปี


ประวัติการเจ็บป่วย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 น. เริ่มมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนเป็นน้ำและเศษอาหารมากกว่า 10 ครั้ง ถ่ายเหลว 2 ครั้ง ร่วมกับแน่นหน้าอก เวลา 15.00 น. มารดาได้ต้มน้ำรางจืดให้ดื่ม แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงพาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลค้อวัง เวลา 17.48 น. รพ.ค้อวัง ให้การรักษาและส่งต่อรพ.ยโสธร เวลา 18.57 น. และเสียชีวิตในวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 06.30 น.

จากการสอบสวนโรคเพิ่มเติม พบว่า มารดาผู้เสียชีวิตได้มาจากชาวบ้าน ในหมู่บ้านเดียวกัน ที่ไปเก็บมาจากหลังโรงเรียนบ้านหมากมาย โดยวันนั้นได้เก็บมาฝากมารดาผู้เสียชีวิต ประกอบไปด้วยเห็ด 2ชนิด ได้แก่เห็ดไค และเห็ดถ่าน โดยเห็ดสงสัยเป็นเห็ดพิษ คือ เห็ดถ่าน ที่นำมาประกอบอาหาร ด้วยวิธีต้ม ใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างต้มมีการเติมน้ำเรื่อย ๆ จนคาดว่าเห็ดสุกดี หลังจากนั้นได้นำมาปรุงเป็นเมนูปนเห็ด จากการสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของมารดาของผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยังไม่พบอาการผิดปกติ แต่ยังคงต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ได้สั่งการให้หน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ดำเนินการเฝ้าระวัง สื่อสาร และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่
ให้ระมัดระวังในการรับประทานเห็ดธรรมชาติ "เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน" นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์เชิงกว้างผ่านช่างทางสื่อต่าง ๆ อีกด้วย


สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษ จังหวัดโสธร ในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 7 กรกฎาคม 2567 จังหวัดยโสธร พบผู้ป่วยจำนวน 82 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 19.07 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 3 ราย (ที่ อ.คำเขื่อนแก้ว 1 ราย อำเภอเมืองยโสธร 1 ราย และอำเภอค้อวัง 1 ราย)อัตราตาย 0.56 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตายเท่ากับ ร้อยละ 3.65 เมื่อพิจารณาแนวโน้มของผู้ป่วยพบว่า จำนวนผู้ป่วยรายสัปดาห์เปรียบเทียบกับค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสัปดาห์ที่ 21 - 26 (26 พฤษภาคม - 6 กรกฎาคม 2567/ และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยในช่วง เวลาเดียวกันของปี 2567 กับปี 2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยในปีนี้ สูงกว่าปี 2566 ถึง 1 เท่าระยะเวลาในการแสดงอาการของผู้ป่วยหลังกินเห็ดพิษ เริ่มมีอาการตั้งแต่เร็วเป็นนาที หรืออาจนานหลายชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยได้แก่ วิงเวียน อาเจียนปวดท้อง ถ่ายเหลว จนถึงอาการรุนแรง ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดื่มน้ำผสมเกลือ แล้วล้วงคอทำให้อาเจียน หรือให้รับประทานผงถ่าน (activated charcoal ที่ผสมกับน้ำให้ชั้นเหลวคล้ายโจ๊ก โดยผู้ใหญ่ใช้ 30 - 100 กรัม เด็กใช้ 15 - 30 กรัมเพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร แต่ถ้าไม่มีผงถ่านก็ให้ใช้ไข่ขาวแทน และควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติ การกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือ หรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย รวมถึงแจ้งผู้กินเห็ดจากแหล่งเดียวกันให้สังเกตอาการ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร จึงขอให้ประชาชนเสือกซื้อ และกินเห็ดที่มีการเพาะพันธุ์จากฟาร์มเห็ด หรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเลี้ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ นอกจากนี้ ไม่ควรเก็บเห็ด
ในบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น "เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน"


ทั้งนี้ ทีมสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร และทีม CDCU อำเภอค้อวัง จะลงพื้นที่เก็บเห็ดตัวอย่างส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไป


หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร