ศิริกัญญาระบุดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่มีการเสนอเข้าบอร์ดธกส. ยอมรับห่วงสภาพคล่อง โครงการเดินต่อลำบาก เชื่อหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเศรษฐา ก็ยังมีคนสานโครงการต่อ ด้าน"เรืองไกร" ยก 6 ข้อกฎหมาย ยื่นหนังสือปปช.เดินหน้าสอบ "เศรษฐา"ต่อ ปมแต่งตั้งผบ.ตร. แม้ "เสรีพิศุทธ์"ถอนคำร้องตามคำขอสองอดีตนายกฯ ก็ไม่มีผล
ที่ร้านอาหารอุ่นไอดิน เมื่อวันที่ 7 ก.ค.67 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กล่าวถึงภาพรวมการพิจารณางบประมาณ ปี 68 ว่า เป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นปกติที่กรรมาธิการฯ จะมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับทั้งงบประมาณปี 68 และการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ก็ได้มีการพูดคุยกันที่จะต้องนำเงิน 170,000 กว่าล้านบาท มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทางธกส.ก็ยืนยันว่าไม่ได้มีการพูดคุยของมติในบอร์ด ธกส. และยังไม่ได้มีการส่งรายละเอียดเพิ่มเติมในกระบวนการ ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความว่าขัดต่อวัตถุประสงค์กับธกส.หรือไม่ และมีการพูดคุยถึงสภาพคล่องที่คงเหลือของ ธกส.
ทั้งนี้ ธกส.ก็ชี้แจงว่า มีสภาพคล่องล้นเกินอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท หากจะต้องใช้เงินส่วนนี้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะต้องถ่ายเทสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ ที่จะมีอยู่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งตนก็ได้สอบถามว่าจะกระทบกับกระดานทุนที่จะต้องไปแย่งชิงเม็ดเงินจากผู้ที่จะต้องออกตราสารหนี้เอกชนหรือไม่ แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนเท่าไหร่ ตรงนี้ก็มีผู้ที่แสดงความเป็นห่วงว่า ท้ายที่สุดอาจจะต้องเพิ่มทุนให้กับ ธกส.เพื่อทำให้อัตราการถือครองกองทุนต่างๆ ดำรงความเสี่ยงของ ธกส.ยังคงเป็นไปได้อยู่
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า รวมทั้งมีการพูดคุยถึงหนี้รัฐบาลที่ติดค้างตอนนี้ยอดอยู่ที่ประมาณเกือบ 8 แสนล้านบาทแล้ว และยังคงเป็นการผ่อนชำระไปเรื่อยๆ แบบที่ ธกส.เองก็ให้ความชัดเจนไม่ได้ว่าปีนี้จะมีเงินต้นหรือดอกเบี้ยมาชำระเท่าไร ขึ้นอยู่กับงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีความชัดเจนในแต่ละปีว่าจะมีความต้องการเงินสดจาก ธกส.เท่าไหร่ จึงเป็นปัญหากับการบริหารจัดการของ ธกส.พอสมควร
นางสาวศิริกัญญา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเราได้ท้วงติงไปหลายปีงบประมาณแล้วว่าต้องวางแผนให้ชัดเจนว่าจะคืนปีละเท่าไหร่ เพื่อให้ ธกส.เอง สามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงการใช้งบประมาณในแต่ละปีควรคิดตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ไม่ใช่ว่าคิดออกเมื่อไหร่ใช้เมื่อนั้น ถึงแม้จะเป็นธนาคารของรัฐ แต่เขาก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีความมั่นคงทางการเงินระดับหนึ่ง เพื่อให้สุดท้ายไม่เป็นภาระกับประชาชนที่จะต้องเพิ่มทุนหรือจะต้องแก้ปัญหาหนี้เสียของ ธกส.
ตัวแทนจาก ธกส.มีเอกสารชัดเจนครบถ้วน โดยเข้ามาในฐานะเจ้าหนี้ เพราะงบประมาณที่มาขอทั้งหมดเป็นหนี้ที่รัฐบาลติดค้างเขาอยู่ ตั้งแต่ปี 51จึงขอมาทั้งหมด 600,000 กว่าล้านบาท แต่ได้ไปไม่ถึง 60,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามถึงเอกสารงบกลาง ทางในโครงการดิจิตัลวอลเล็ตจะวนกลับมาประชุมอีกครั้งเมื่อไร นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสำนักปลัดกระทรวงการคลังที่ต้องชี้แจงอีกรอบ แต่ยังไม่ได้มีการนัดหมายอีกครั้งว่า จะเข้ามาพร้อมเอกสารที่ครบถ้วนเมื่อไหร่ คงต้องให้ประธานและฝ่ายเลขาฯ ทำหนังสือนัดประชุมอีกรอบ
สำหรับกรณีมีความกังวลว่าจะไม่ทัน เพราะรัฐบาลวางกรอบโครงการดิจิตอลวอลเล็ต ให้มีความชัดเจนในสิ้นปีนี้หรือไม่นั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า จะบอกว่ารัฐบาลวางกรอบชัดเจนแต่ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นเมื่อไหร่ของไตรมาส 4 ด้วยซ้ำ อาจจะเป็นตุลาคม พฤศจิกายน หรือธันวาคม ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นก็เอาใจช่วย ลุ้นอยู่เหมือนกันว่าสามารถทำได้ทันหรือไม่ เพราะยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง และหวังว่าน่าจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนมาลงทะเบียนปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าตอนแถลงจะลงทะเบียนเมื่อไหร่อยู่ดี ก็ได้แต่ลุ้นว่าจะสามารถมีงบประมาณเพียงพอ และระบบต่างๆ พร้อมที่จะใช้งานในกำหนดเวลาที่รัฐบาลได้บอกไว้ล่วงหน้าหรือไม่
นางสาวศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ประมาณวันที่ 17-18 ก.ค.นี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติม ปี 67 หรืองบกลางปีของปี 67 ก็จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระ1 ซึ่งในส่วนนี้จะมีการกู้เงินเพิ่ม เพื่อชดเชยขาดดุลอีกประมาณ 112,000 ล้านบาท และมีในส่วนของรายได้เพิ่มเติมที่รัฐบาลไปหามาได้จากการมีบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ตั้งขึ้นมาเมื่อสมัยต้มยำกุ้ง เพื่อบริหารจัดการหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งปิดตัวไปได้กว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้น มีเงินสดกองอยู่ ก็เลยต้องมีการปันเข้าสู่เงินคงคลัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคดีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โครงการดิจิทัลวอลเลตยังคงเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า โครงการนี้ใช้หลายภาคส่วนนอกเหนือจากนายกรัฐมนตรีก็ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างแข่งขัน แม้ว่าจะมีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น ตนก็คิดว่ามีทีมงานที่จะช่วยทำโครงการนี้ต่อ และถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะพ้นตำแหน่งโดยปริยายหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายเศรษฐา แต่ด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ ก็สามารถหานายกรัฐมนตรีมาแทนได้ หากไม่ถึงขั้นข้ามพรรคการเมือง
ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า กรณีที่ปรากฏข่าวการร้องขอจากอดีตนายกรัฐมนตรี 2 ท่าน ที่ขอให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ถอนคำร้องที่กล่าวหา นายเศรษฐา ทวีสิน กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแต่งตั้ง ผบ.ตร. กรณีดังกล่าว แม้จะมีการถอนคำร้องแล้ว แต่ถ้าดูข้อกฎหมายใน พรป.ป.ป.ช. การถอนคำร้องไม่น่าจะมีผลให้ ป.ป.ช.ยุติเรื่องได้ เพราะต้องถือว่ามีความปรากฏแล้ว ดังนั้น ในวันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อไป โดยมีการยกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ใส่ไว้ในดังนี้ ข้อ 1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และมาตรา 183 บัญญัติไว้ดังนี้ มาตรา 28 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ 1.ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา 48 เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จำเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและ มีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปี นับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน
มาตรา 183 กรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 180 หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรมให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 5 ต.ค.66 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ยื่นหนังสือกล่าวโทษ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 10 คน ซึ่ง ป.ป.ช. รับคำร้องพร้อมเอกสารไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ดังความควรแจ้งแล้วนั้น ข้อ 3. ต่อมา ประมาณวันที่ 3 ก.ค.67 ปรากฏข่าวตามสื่อต่าง ๆ ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ถอนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีการกล่าวอ้างถึง อดีตนายกรัฐมนตรี 2 คน มาร้องขอ และกล่าวอ้างว่า เมื่อถอนคดีแล้วจะมีคนไปวิ่งเต้นคดีกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต่อไปนั้น ประกอบกับวันที่ 3 ก.ค.67 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ได้มายื่นกล่าวหา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง รายละเอียด ป.ป.ช. ควรทราบแล้วนั้น
ข้อ 4. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง แล้ว ย่อมเห็นได้ว่า ป.ป.ช. ยังคงต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อตรวจสอบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับพวก ต่อไป เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ข้อ 5. ดังนั้นกรณีการกล่าวหา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นคำร้องของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และคำร้องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ย่อมเป็นความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วเช่นกัน กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อไปตามหน้าที่และอำนาจในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง (1)
ข้อ 6. สำหรับกรณีการกล่าวอ้างว่า จะมีคนไปวิ่งเต้นคดีกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต่อไปนั้น กรณีนี้ จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต่อไปว่า มีเจ้าหน้าที่ผู้ใด เข้าข่ายกระทำการช่วยเหลือให้มีการวิ่งเต้นคดีอันมีโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 183 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ในหนังสือดังกล่าวจึงได้ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และคำร้องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ต่อไปว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่