นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 988,737 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 283 ข้อความ
ทั้งนี้มีเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 211 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 96 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก
อันดับที่ 1 : เรื่อง ชวนลงทุนหุ้นทองคำ รับเงินปันผล 390-980 ต่อวัน รับรองโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ
อันดับที่ 2 : เรื่อง บัญชีไลน์ไอดี Bk040319 ชักชวนให้ลงทุน รับรองโดยสำนักงาน ก.ล.ต.
อันดับที่ 3 : เรื่อง บัญชีไลน์ HUA Seng Heng แจ้งให้ลงทะเบียนเพื่อลงทุนสร้างกำไร
อันดับที่ 4 : เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ท. เปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม
อันดับที่ 5 : เรื่อง พม. เปิดเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อช่วยกู้คืนทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงไปได้
อันดับที่ 6 : เรื่อง กรมการปกครองเปิดเพจศูนย์อาสาป้องกันและบรรเทาคดีอาชญากรรมทางออนไลน์
อันดับที่ 7 : เรื่อง บัญชีไลน์ของผู้บริหารสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเทรดหุ้น
อันดับที่ 8 : เรื่อง บัญชีไลน์ Broker May เชิญชวนเข้าประชุม แชร์กลยุทธ์ การลงทุน โดยสำนักงาน ก.ล.ต.
อันดับที่ 9 : เรื่อง ก.ล.ต. เปิดให้ลงทุนหุ้นผ่านกลุ่มไลน์ รับประกันรายได้ 100%
อันดับที่ 10 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ Investing in stocks
"เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวเรื่องการหลอกลวงการลงทุนที่มีการอ้างถึงหน่วยงานรัฐ และธนาคารรัฐ จึงทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือและมีความสนใจเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ยังมีข่าวอ้างหน่วยงานรัฐเปิดช่องทางช่วยเหลือประชาชนจากโจรออนไลน์ ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหาย และผลกระทบทั้งในส่วนบุคคล และประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้"
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน หลงเชื่อทำธุรกรรมใดๆ ผ่านแพลตฟอร์มต้องสงสัย อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ หรือหากส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) , Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com