กระแสการล่า "ปลาหมอสีคางดำ" ค่อนข้างมากในขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็ดีที่เป็นการกระตุ้นเตือนและเชิญชวนชาวบ้านในพื้นที่ที่พบปลาชนิดนี้ให้ได้ช่วยกันจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ส่วนหนึ่งกลับกลายเป็นเรื่องของการกล่าวโทษผู้นำเข้าซึ่งทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ทั้งๆที่ความจำเป็นในขณะนี้คือการมุ่งโฟกัสไปที่การจำกัดพื้นที่และลดประชากรปลาหมอสีคางดำมากกว่า 

ข้อมูลจากกรมประมง (https://www4.fisheries.go.th/local/pic_activities/201802221729471_pic.pdf) ระบุว่า กองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กล่าวถึงการส่งออกปลาหมอสีคางดำเป็นปลาสวยงามไปต่างประเทศถึง 15 ประเทศ ในช่วงปี 2556-2559 รวมจำนวน 323,820 ตัว คิดเป็นมูลค่า 1,510,050 บาท โดยประเทศปลายทางที่สั่งซื้อปลาหมอสีคางดำจากไทย ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล อิหร่าน เลบานอน ตุรกี อียิปต์ ซิมบับเว รัสเซีย โปแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ปากีสถาน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย 

ข้อมูลนี้สะท้อนว่าประเทศไทยมีการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ปลาหมอสีคางดำ เข้ามาเพาะเลี้ยงในกลุ่มปลาสวยงาม และสร้างรายได้ด้วยการส่งออกเรื่อยมา ก่อนที่ กรมประมงจะมีประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง ในปี พศ.2561 โดยบริษัทในกลุ่มปลาสวยงามนี้ ไม่ปรากฎรายชื่อ “ผู้ขออนุญาตนำเข้า” ให้สืบค้นเลยแม้แต่รายเดียว เป็นไปได้ว่าน่าจะนำเข้ามาโดยเสรี ไม่มีการขออนุญาตใดๆ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าทุกชนิดทุกประเภทต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร นั่นหมายความว่า รายชื่อบริษัทผู้ส่งออกปลาหมอคางดำ จะปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลของ “กรมศุลกากร” สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก ซึ่งก็คงเป็นขั้นตอนต่อไปถ้าต้องการตามหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปลาชนิดนี้ 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นกันมากมาย และส่วนใหญ่ไม่ขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ดังนั้น บริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าปลาอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ควรชื่นชม ขณะที่ช่วงปี 2549 ซึ่งมีการขออนุญาตนำเข้านั้น ยังไม่เคยปรากฎรายงานในโลกนี้ว่า ปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาต่างถิ่นกลุ่มรุกราน ( Invasive alien species ) ดังนั้น การที่กรมประมงอนุญาตให้นำเข้ามาค้นคว้าวิจัยในช่วงนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เนื่องจากเพิ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นสายพันธุ์รุกราน เมื่อพบการระบาดจากฟาร์มปลาสวยงามในรัฐฟลอริด้า 

ในส่วนของการทำลายสัตว์ต่างถิ่น นักวิจัยทุกคนมีความรู้ความเข้าใจและระมัดระวังเรื่องเชื้อโรคที่อาจติดมากับสัตว์ต่างถิ่นเสมอ เมื่อพบสัตว์ป่วย ไม่แข็งแรงและทยอยตายลง วิถีในการทำลายสัตว์เหล่านี้อย่างถูกต้องตามหลักวิชา ก็เป็นพื้นฐานความรู้ที่นักวิจัยทุกคนถือปฏิบัติ นับเป็นข้อดีที่กรมประมงกำหนดเป็นเงื่อนไขแก่ผู้ได้รับอนุญาต ส่วนผู้ที่ไม่ได้ขออนุญาต ย่อมไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใดๆ ของรัฐ 

ประเทศไทยพบการระบาดของสัตว์ต่างถิ่นหลายครั้งหลายครา และแต่ละครั้งก็มีธรรมชาติจัดสรร เพียงแต่ต้องใช้เวลา ยกตัวอย่าง หอยเชอรี่ที่เข้ามาระบาดเมื่อ 50 ปีที่แล้ว วันนี้หมดไปได้เพราะ “นกปากห่าง” ที่ธรรมชาติจัดสรรผู้ล่าเข้ามาเพื่อถ่วงสมดุล เชื่อว่าปลาหมอสีคางดำก็เช่นกัน หากควบคู่ไปกับการศึกษาพันธุกรรมธรรมชาติของมัน ก็จะช่วยพัฒนาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอสีคางดำได้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่ธรรมชาติจะส่งผู้ล่าเข้ามาสร้างสมดุลในที่สุด 

หากสังเกตให้ดีพื้นที่ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ไม่พบการระบาดของปลาชนิดนี้ นั่นเป็นเพราะพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยปลานักล่าตามธรรมชาติ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าการปล่อยปลาอีกง หรือกะพง เสียอีก ทะเลสาบสงขลาก็เช่นกัน มีปลานักล่าตามธรรมชาติจำนวนมาก จึงค่อนข้างสบายใจได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งมีความตื่นตัว เมื่อเริ่มพบก็เร่งจำกัด เชื่อว่าจะสามารถคุมพื้นที่ได้ไม่ให้ฝูงปลาระบาดลงไปมากกว่านี้ อีกด้านหนึ่งก็ควรประสานมือไล่ล่าปลาจากจันทบุรี ระยอง จำกัดให้อยู่เฉพาะพื้นที่ สมุทรปราการ- สมุทรสาคร- สมุทรสงคราม แล้วอนุญาตให้ชาวบ้านใช้เครื่องมืออวนรุนหรือโพงพางจัดการเป็นเวลาต่อเนื่อง 2-3 ปี ก็จะสามารถควบคุมประชากรปลาหมอสีคางดำได้ หลังจากนั้นค่อยฟื้นฟูธรรมชาติให้สัตว์น้ำพื้นถิ่นกลับมา เป็นการช่วยธรรมชาติจัดสรรได้อีกทางหนึ่ง 

เหนืออื่นใดคือความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะเป็นพลังสามัคคีสำคัญ ที่จะทำให้ปัญหานี้คลี่คลายลง ขอเพียงมุ่งโฟกัสในจุดเดียวกัน คือรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศให้กลับมาอย่างยั่งยืนก็พอ

โดย : อุทก สาครกุล