วันที่ 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. นายสมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 เป็นประธานเปิด โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของจังหวัดยโสธร โดยมี นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราขการจังหวัดยโสธร  พร้อมด้วยนายแพทย์ยุทธนา สุริยะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร นำหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด  กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสาขาเลิงนกทา   คณะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 10  อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชน  ร่วมงาน ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร


โดยในพิธีเปิดโครงการ นายสมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10   ประธานในพิธี นำมวลชนถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเปิดกรวยถวายสักการะ กล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ  และนำผู้เข้าร่วมพิธี ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมกัน  จากนั้นนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวต้อนรับ จากนั้นภาย หลังพิธีเปิดโครงการได้มีพิธีมอบขาเทียมพระราชทานแก่ประชาชน จำนวน 10 ราย และพิธีมอบชุดตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี และเวชภัณฑ์ โดย นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค มอบให้จังหวัดยโสธรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการคัดกรองไวรัสตับอักเสบให้กับประชาชน จากนั้นลงเยี่ยมชมจุดบริการในคลินิกต่างๆ พบปะทีมแพทย์จิตอาสา    สหวิชาชีพจิตอาสา  อสม. และประชาชนผู้มารับบริการ จำนวน 10  คลินิก
 นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัด โครงการพาหมอไปหาประชาชน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการคัดกรองโรคและความเจ็บป่วยที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชนโดยจัดโครงการให้บริการต่อเนื่องตลอดปี 2567 จำนวน 72 ครั้ง ใน 77 จังหวัด    โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่น ซึ่งประชาชนจะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการรับบริการโดยแพทย์เฉพาะทาง ในโอกาสปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567


จังหวัดยโสธรได้จัดบริการประชาชน จำนวน 10 คลินิก คือ1. คลินิกทันตกรรม2. คลินิกตาในผู้สูงอายุ 3. คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม
4. คลินิกคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ/มะเร็งตับ/มะเร็งท่อน้ำดี5. คลินิกการแพทย์แผนไทย 6.คลินิกกายภาพบำบัด โรงทาน “จิตอาสา” จากชมรมพ่อค้าเลิงนกทาซุ้มน้ำดื่ม คสร. และนิทรรศการ “สัปดาห์เภสัชกรรม”7. คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
8. คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ลำไส้ตรง9. คลินิกสุขภาพจิตและ10. คลินิกคัดกรองผู้สูงอายุ 9 ด้านโดยทีมที่ให้บริการเป็นทีมแพทย์จิตอาสา และสหวิชาชีพจิตอาสา ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะได้รับการตรวจรักษาโรคกับแพทย์เฉพาะทางตามคลินิกเฉพาะที่ให้บริการ


ส่วนทางด้าน นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ในโอกาสปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 หนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ที่จังหวัดยโสธรร่วมใจกันดำเนินการคือ โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติ ฯ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากบริการของทีมแพทย์เฉพาะทาง และทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องต่างภูมิใจในการมีส่วนร่วมและแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกรคนไทย
 และ นายแพทย์ยุทธนา สุริยะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร กล่าวว่า กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โครงการพาหมอไปหาประชาชน ของจังหวัดยโสธร ได้จัดบริการคลินิกแพทย์เฉพาะทาง จำนวน 10คลินิก ซึ่งปรับตามบริบทของพื้นที่ โดยคลินิกสำคัญที่ให้บริการเช่นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ โดยการส่องกล้อง ซึ่งพื้นที่จังหวัดยโสธร ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยง จากทุกอำเภอและนัดหมายมารับบริการในครั้งนี้ เพื่อยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยและพร้อมให้การรักษาและส่งต่อ  นอกจากนี้ คลินิกกระดูกและข้อ ให้บริการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู  กลุ่มงานกายภาพบำบัด ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทาสามารถผลิตขาเทียมได้ และพร้อมให้บริการประชาชนที่มีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ  นอกจากนี้คลินิกอื่นๆได้ประสานเครือข่ายทุกอำเภอเพื่อนัดหมายประชาชนที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทางจัดบริการนับเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขต่างพร้อมใจกันทำโครงการนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติโดยพร้อมใจกัน
สำหรับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง มีแพทย์ 27 คน  ทันตแพทย์ 6 คน  เภสัชกร 14 คน  พยาบาลวิชาชีพ 131 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ 266 คน มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 31 ไร่ 1 งาน 99.50 ตารางวา ได้ให้บริการด้านสุขภาพอนามัย แก่พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทา และพื้นที่ใกล้เคียง จากปี 2520 เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านบริการ วิชาการ ด้านบริหารจัดการ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ซึ่งภารกิจของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา ได้เจริญก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน