ราชบุรี พระสอนไม้ดัดฝึกจิตสู่เส้นทางธรรม การใช้ไม้ดัดบอนไซช่วยฝึกจิตใจสู่เส้นทางธรรม ของเจ้าอาวาสวัดธัมรัตคูหา อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ช่วยให้มีสมาธิดี สงบ มีสมาธิ
พาไปชมไม้ดัดรูปทรงดูแปลกตาจำนวนมาก เป็นฝีมือของพระอธิการสุนทร สนทโร เจ้าอาวาสวัดธัมรัตคูหา อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีแนวคิดหาพันธุ์ไม้ในพื้นที่วัดมาตัดแปลงตกแต่งออกมาเป็นรูปทรงตามจินตนาการ ที่สำคัญยังช่วยทำสมาธิ กล่อมเกลาจิตใจให้ปล่อยวาง
พระอธิการสุนทร สนทโร เจ้าอาวาสวัดธัมรัตคูหา กล่าวว่า มองภาพรวมไม้แต่ละต้น มีทั้งทรงเอียง ทรงเอน ทรงล้ม ถ้าเข้าสู่วิถีธรรมก็เหมือนพื้นฐานของมนุษย์ พื้นฐานของบุคคลทั่วไปที่เกิดมาในที่สูงที่ต่ำ ที่หยาบ ละเอียด งานไม้ดัดคืองานที่ทำไม้ใหญ่ให้เล็กลง ย่อส่วนลงอยู่ในกระถาง จำกัดพื้นที่ให้อยู่ในส่วนที่เหมาะสมให้เกิดความสวยงาม ถ้าเทียบกับธรรมมะคือ การดำเนินชีวิตที่มีสัดส่วน มีระบบ มีพื้นที่ มีกรอบ
ถ้าดูหลักการทำหากไม้ทรงเดิมเป็นไม้ทรงเอนไปทางขวา จะเรียกว่าเอนชายในภาษาของช่างต้นไม้ ต้องตัดกิ่งที่ไม่สมควรออกไป เลือกกิ่งที่เหมาะสมแล้วแบ่งสัดส่วนให้มีช่องไฟมองแล้วมีจังหวะ ถ้าเป็นชีวิตก็เปรียบเสมือนชีวิตมีช่วงว่าง ช่องไฟจะได้ไม่ทะเลาะกัน เวลาที่ว่างของวันที่ดีที่สุดคือก่อนนอน ให้ตรวจสอบตัวเองว่ามีดีมีเสียเท่าไหร่ ให้ทบทวนตัวเอง ให้มีโอกาสได้พักผ่อนบ้าง จะได้มีกำลังออกไปสู้ต่อ ให้ใช้อิทธิบาท 4 เพื่อเข้าไปสู่วิถีทางธรรม ซึ่งใช้อยู่ประจำทุกวัน
ส่วนใหญ่จะสอนกับญาติโยมว่า ตรวจสอบตั้งแต่เช้ามาก่อนมีอะไรบ้างที่ทำให้เราสบายใจหรือ ทุกข์ใจ อะไรคือปัญหาทำให้เกิดความทุกข์ พอเจอแล้วเตรียมสิ่งที่เป็นพรุ่งนี้ไว้ดำเนินการ เก็บแล้วใส่ลิ้นชักให้หมด และจะถามทุกคนว่ามีอะไรที่ต้องคิดอีกมั๊ยเพราะเก็บใส่ลิ้นชักหมดแล้ว ยกเว้นอย่าคว้าโทรศัพท์ขึ้นมา หากคว้าขึ้นมาก็จะไม่ว่างทันที บางจิตเหนื่อย บางวันจิตเหนื่อยแต่กายไม่เหนื่อย บางวันกายเหนื่อยจิตไม่เหนื่อย กรรมฐานคือ การรวมกายกับจิตให้เป็นหนึ่งเดียว ทำอย่างไรให้กายและจิตรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อจะได้ชาร์ตแบตเตอรี่ให้ตัวเอง
พระอธิการสุนทร สนทโร เจ้าอาวาสวัดธัมรัตคูหา กล่าวอีกว่า ที่นี่จึงมีแนวทางจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าพลังงานภายในมนุษย์มีอยู่ มีทั้งบวกและลบอยู่ในตัว เป็นพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ดังนั้นมนุษย์กับต้นไม้ทำไมถึงเอามารวมกัน เพราะคือธรรมชาติ แต่ตอนนี้ได้ฝืนธรรมชาติจากต้นใหญ่ทำให้กลายเป็นต้นเล็ก เพื่อย่อส่วนความงามของความระส่ำระสายของเรื่องราวในงานชิ้นนั้นมาเป็นสัดส่วนอยู่ในส่วนของพื้นที่หนึ่ง ทุกคนจะมองเห็นว่ากว่าจะสร้างออกมาได้ต้องเคลียร์ขยะจากต้นไม้ออกมาเป็นรูปทรงได้ต้องใช้เวลานาน แต่ให้รู้ว่าทุกคนทำได้ นั่นคือชีวิตฝ่ายบวกของชาวพุทธที่ปฏิบัติ
อย่างต้นคดปลายตรงมีเยอะ ก็คือชีวิตพื้นฐานของไม้ต้นนั้นไม่สมบูรณ์ พร้อมครอบครัวไม่มีความสุข ชีวิตต้องดิ้นรน คือ ชีวิตที่คดบิดเบี้ยวไปมากับอุปสรรค แต่เขาเข้าใจความเป็นจริงจึงปรับตัวเองขึ้นมาเพื่อขึ้นสู่ฟ้า ส่วนต้นตรงปลายคดมีมาก ชีวิตเบื้องต้นพื้นฐานที่สมบูรณ์แบบเป็นไม้ที่สวยงาม แต่พอระยะปลายก็ใช้ชีวิตไม่ถูกก็เลยเป็นปลายคด ส่วนมากเป็นพวกชีวิตคุณหนู ไม้อ่อนดัดง่ายมีหลาก เยาวชนเด็กน้อยเราสามารถสอนได้ สอนให้เขาเห็นเหตุและผลแห่งความเป็นจริง
เรียนการตัดต้นไม้มานานเกือบ 10 ปี เริ่มจากใจชอบเนื่องจากสถานที่ตรงนี้อยู่กับธรรมชาติ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่มาวัด และทำอย่างไรให้ตัวเองได้ปฏิบัติแล้วสร้างสรรสาระให้เกิดในสถานที่ การปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องมานั่งปฏิบัติธรรม สมาธิที่ดีไม่ได้อยู่ที่ตอนหลับตา การเคลื่อนไหวที่ดีสามารถปฏิบัติธรรมได้ ใช้การมีศิลปะที่มีอยู่ในตัวได้สร้างงานออกมาที่เป็นประโยชน์ และฝึกสติ ทำให้สถานที่เกิดการพัฒนา เกิดประโยชน์สาระได้ปัญญาในธรรม มีธรรมะมาปรากฏขณะที่สร้างงานแต่ละครั้ง พูดง่ายคือ ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ สมาธิจึงจะตามมา เคลื่อนไหวอย่างมีสติโดยรู้ตัวเอง รู้ลมหายใจเข้าออกเป็นระบบ คือหลักในการฝึกกรรมฐาน
ผศ. ดร. เชิดชัย ธุระแพง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นำนักศึกษาสู่ห้องเรียนแบบธรรมชาติ วัดธัมรัตคูหา เป็นห้องเรียนห้องที่ 2 ที่เกิดจากการต่อยอดโครงการ U2T รุ่น 1 และรุ่น 2 ของมหาวิทยาลัยฯ รุ่น 1 มีนักศึกษามาเรียนกับพระอาจารย์ เป็นผู้สอนหลัก โดยห้องเรียนแรกมีพันธุ์ไม้ที่มหาวิทยาลัยฯส่งเสริมสนับสนุนไว้กว่า 100 ชนิด แต่ละต้น แต่ละแบบไม่มีที่ไหนแตกต่างกันเลย เพราะที่นี่เป็นต้นไม้ในท้องถิ่น มาทำไม่เหมือนกับต้นไม้ดัดของที่อื่น จะเห็นว่าตรงนี้ เป็นห้องเรียนห้องที่สองซึ่งมีความแตกต่างกัน อย่างน้องนักศึกษาโครงการ U2T รุ่นที่ 1 และต่อยอดมาถึงรุ่นที่ 2 ตอนนี้เป็นผู้ประกอบอาชีพทำไม้ดัด และกระถาง ทางมหาวิทยาลัยให้เป็นวิทยกรในการสอน จะเห็นว่าผลผลิตของมหาวิทยาราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมด้านการศึกษา และผลิตบัณฑิตสู่ชุมชนท้องถิ่นจริง ๆ โดยโครงการ U2T รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในอนาคตข้างหน้าก็ยังมีการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้อีก
นายคณิศร สวนบุตร นักศึกษาโครงการU2T รุ่น 1 และผู้ประกอบอาชีพไม้ดัดและทำกระถาง กล่าวว่า ต้องคัดกิ่งไม้แต่ละต้น ส่วนใหญ่จะเป็นต้นตะโก มะขาม หมากเล็กหมากน้อย มะสังข์ ใช้ได้หลายชนิด วัสดุการเลี้ยงมีดินขุยมะพร้าว ปลูกในกระถางที่ทำเองตามจินตนาการ ดูตามแบบอย่างไม้ดัดที่เล่นหากันในบางต้น จะทำให้รูปทรงออกมาสวยงามแปลกตาตามจินตนาการ ซึ่งได้รับการเรียนรู้ถ่ายทอดมาจากพลวงพ่อ
สำหรับผู้สนใจอยากจะมาศึกษาเรียนรู้การทำบอนไซ เพื่อนำความรู้ไปทำเป็นอาชีพเสริม ซึ่งยังมีประโยชน์ช่วยฝึกจิต การทำสมาธิ มีจิตใจที่สงบเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีได้ด้วย ติดต่อสอบถาม เจ้าอาวาสวัดธัมรัตคูหา เบอร์ 089 - 8251013 หรือ นายคณิศร สวนบุตร นักศึกษาโครงการ U2T ผู้ประกอบการไม้ดัด เบอร์ 086-1612486