วันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่แปลงนาข้าวเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนของเกษตรกรของนางมณฑา โกตูม ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทราสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอคลองเขื่อนลงพื้นที่จัดการสำรวจและวิเคราะห์ระบบนิเวศในนาข้าวตามกิจกรรมพัฒนาโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบ ปี 2567 ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านการอารักขาพืชของสมาชิกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร และพัฒนาศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนให้เป็นโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบด้านการจัดการศัตรูพืช สำหรับขยายผล กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรสู่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนอื่น ๆ
ทั้งนี้ เกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดกล่าวว่ากระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่นำมาใช้ในการส่งเสริมการเกษตร โดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อให้เกษตร กรได้ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหามีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว (Season Long Training) โดยเกษตรกรเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ตามหลักสูตรที่กำหนด เน้นให้มีการศึกษา ทดลอง วิเคราะห์และตัดสินใจโดยตัวเกษตรกร เป็นผู้จัดทําวัสดุอุปกรณ์ประกอบการเรียน รวมทั้งทำแปลงศึกษา ทดลองทำสวนแมลง (Insect Zoo) การเก็บตัวอย่างศัตรูพืช เพื่อการจําแนกและศึกษาบทบาทของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และการวิเคราะห์ระบบนิเวศเกษตรกร เพื่อประกอบการตัดสินใจ มีแปลงทดลอง (Field Lab) หรือแปลงสำหรับฝึกหัด เรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจของโรงเรียนเกษตรกร ประกอบด้วย พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ที่เกษตรกรจะร่วมกันใช้เป็นแปลงศึกษา ทดลอง เปรียบเทียบ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกษตรกรต้องการหรือควรจะเรียนรู้
การดำเนินกิจกรรมตามเกษตรกรในจุดดังกล่าว เป็นการดำเนินกิจกรรมในในช่วงที่ข้าวมีอายุ 33 วัน แล้วโดยเน้นการสำรวจและวิเคราะห์ระบบนิเวศในนาข้าว และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) พบหนอนม้วนใบข้าว โรคขอบใบแห้ง ข้าวอายุ 33 วัน แนะนำให้ฉีดพ่นสารกำจัดหนอนห่อใบข้าว เนื่องจากพบปริมาณมาก และได้สอนการผลิตไตรโคเดอร์มาโดยใช้ข้าวเปลือกสำหรับใช้ป้องกันกำจัดโรคพืช ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตของตนเองต่อไป