วันที่ 5 ก.ค.67 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดให้มี “โครงการเสวนาวิชาการสังคมศาสตร์เพื่อสังคม: Innovative CSR” ขึ้น โดยมี ผศ.ดร.นุชนาถ มั่งคั่ง รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน ผศ.นท.หญิง ดร. งามลมัย ผิวเหลือง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ให้การต้อนรับ ซึ่งมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐ เอกชน ผู้เข้าอบรมหลักสูตร KU VIPs รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2  ตลอดจนนิสิต นักศึกษา เข้าร่วมรับฟังการเสวนา จำนวนกว่า 200 คน ที่ห้องประชุมรวงข้าว คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การจัดเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงบทบาทผู้นำการพัฒนาที่ยั่งยืนในการยกระดับเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่นวัตกรรมทางสังคมให้กับประชาชน ได้นำไปใช้อย่างยั่งยืน โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตร KU VIPs รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 นับเป็นหลักสูตรที่สร้างผู้นำทางแนวคิดในการสร้างคุณค่า นวัตกรรม ความรับผิดต่อสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสู่ความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้จากการสังเคราะห์มาทำประโยชน์ให้กับองค์กรและประเทศชาติต่อไป

โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เกษม จันทร์แก้ว องคมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมประจำสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นองค์ปาฐก กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของผู้นำในการสร้างนวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” สรุปความว่า “การมองนวัตกรรมไม่ใช่เพียงแต่การมองสิ่งใหม่ๆ แต่เป็นการมองโลกให้ลึก มองโลกให้กว้าง และมองอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ จากเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ดังนั้น บทบาทของผู้นำในการสร้างนวัตกรรมจะต้องประกอปไปด้วย การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการปฏิบัติงาน ตลอดจนมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เพื่อการสร้างสรรค์ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความยั่งยืนของมนุษย์ และขอฝากไว้ว่าถ้ารู้รอบด้าน สามารถสร้างนวัตกรรมได้”

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นายนำพล โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล  และ นางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 โดยมีนายธนินวัฒน์ พัฒนวีรคุณ พิธีกรรายการ TV 360 องศา เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

ดร.สุทธิ กล่าวว่า “ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายๆ องค์กรมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำงาน สำหรับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีการคิดค้น SDGs Audit ห้องทดลองเพื่อสร้างนวัตกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมาทดลองใช้ โดยมีจุดดมุ่งหมายในการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร ทั้งนี้ ในการดำเนินงานจึงจำเป็นต้องมีผู้นำที่ดี ที่จะเป็นหลักสำคัญให้กับทีมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก”

นายนำพล กล่าวเสริมว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯ ก็มีการดำเนินงานที่คำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน โดยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่ชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะต้องมีผู้นำที่เข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบรับกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก” เช่นเดียวกันกับการทำงานของธนาคารออมสิน         

        

นางบุญรักษ์ กล่าวว่า “ธนาคารออมสินเป็นสถาบันทางการเงินที่มีจุดมุ่งหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะในระดับฐานราก ด้วยเหตุนี้ ธนาคารออมสินจึงออกแบบแอปพลิเคชั่นทางการเงินที่เน้นไปที่ผู้ใช้บริการ ให้สามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนเองก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาช่วยส่งเสริมพัฒนาความยั่งยืน นอกจากการมีผู้นำและทีมทำงานที่ดีแล้ว การต่อยอดส่งเสริมทักษะทางอนาคต หรือ Future Skills ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ”

ทางด้าน นางสาวแอนนา ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทในการเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงของประชาชนว่า “สำหรับแอนนาเองถือว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ การที่เราจะร่วมกันสร้างความยั่งยืน การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ลงมือทำในแคมเปญการคัดแยกขยะก็ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ทางด้านนวัตกรรม และสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยแล้ว ซึ่งแอนนามองว่าการสนับสนุนให้ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ และมองรอบด้านให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา จะช่วยสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ให้กับสังคมได้”