หมายเหตุ : “สุทิน คลังแสง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เปิดใจการปฏิบัติภารกิจ ในฐานะ “สนามไชย1” ตลอดระยะเวลา 9 เดือน กับการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคง รวมถึงการพัฒนากองทัพในทุกมิติ ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567

- การบริหารงานในห้วง 9 เดือนที่ผ่านมากับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายเอาไว้ด้านความมั่นคง ได้ขับเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง

กรอบใหญ่ของนโยบาย คือการทำให้กองทัพทันสมัย สนองตอบความต้องการของสังคม ซึ่งสังคมเองก็อยากให้กองทัพทันสมัย เพราะฉะนั้นเราได้วางเอาไว้ด้วยกัน 4-5 ด้าน ได้แก่ ขนาดของกองทัพ เราได้ทำไปมากแล้ว เช่นการปรับโครงสร้างกองทัพ มีคณะทำงานปรับแผน แล้วเสนอเข้ามายังสภากลาโหมแล้ว เช่นการลดจำนวนนายพลซึ่งมีแผนชัดเจน เดิมกองทัพมีแผนที่จะให้ลดลงในปี 2570 เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่เรามีมาตรการเสริมเข้าไป และคิดว่า ในปี2570  คงจะลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ในเรื่องของหน่วยงานที่มีโครงสร้างเทอะทะ เรามีแผนทั้งระยะสั้น กลางและระยะยาว โดยระยะสั้นเราใช้แผนการปิดอัตรา บางหน่วนเกษียณไปแล้ว ไม่มีการเปิดรับ  นอกจากนี้ยังมีการควบรวม ในกรณีบางหน่วยงานที่ภารกิจใกล้เคียงกัน ก็นำมารวม รวมทั้งใช้วิธียุบหน่วยไปเลย

ดังนั้นเรื่องนี้จะปรากฏชัดขึ้นคืองบประมาณ ประจำปี 2568ที่เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นว่างบบุคลากรลดลง ส่วนแผนระยะยาว เรามีแผนที่ถัดจากปี 2570 ไปมีความชัดเจนว่ากองทัพจะต้องลดลงทั้งหน่วยงาน และจำนวนบุคลากร

สำหรับความทันสมัยด้านภารกิจ นั้นเรามีความชัดเจนว่าในส่วนของกองทัพนอกเหนือจากความรับผิดชอบเรื่องความมั่นคงแล้ว จะออกไปทางด้านภารกิจพลเรือนมากขึ้น มาสนับสนุนรัฐบาลในแง่ของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เช่นมาทำเรื่องทหารพัฒนา ทหารช่าง  ขุดลอกคูคลอง ตามบ่อน้ำ ฝายน้ำล้น นอกจากนี้กองทัพยังได้มีการนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ ออกมาทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งในแง่เศรษฐกิจ จะสามารถทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น ซึ่งภารกิจเหล่านี้ได้ถูกปรับเพื่อให้สอดคล้องกับมุมมองใหม่ ว่าความมั่นคงที่กองทัพต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ทางด้านทหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรมนุษย์ เรื่องยาเสพติดและภัยคุกคามด้านอื่น ๆ รวมถึงภัยจากไซเบอร์ ที่คุกคามเข้ามา ต่อไปนี้จะเห็นทหารออกมาทำงานพัฒนาเติมให้กับหน่วยงานอื่นมากขึ้น

ในเรื่องเทคโนโลยีนั้นมีความสำคัญ เมื่อเราปรับกองทัพให้ทันสมัย ทั้งการบริหารสำนักงานที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามา ใช้ระบบสั่งการที่ทันสมัยมากขึ้น

ส่วนเรื่องการยกระดับเทคโนโลยีด้านการรบ ตอนนี้เรามีศูนย์บัญชาการไซเบอร์ทางทหาร จากเดิมที่เคยเป็นหน่วยงานเล็กๆ ก็ได้ยกระดับขึ้นมา พร้อมทั้งมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยน มีทั้งส่วนของข้าราชการ และพลเรือน ดังนั้นต่อไปนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นคนที่เป็นนักรบไซเบอร์ต้องใส่ชุดเขียวอีกแล้ว แต่จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ เป็นพลเรือน เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นกองทัพไซเบอร์

ในเรื่องของการพัฒนาเพื่อหารายได้เข้าประเทศ ปัจจุบันหน่วยกองกำลังชายแดน 7 กองกำลัง ก็อาจจะปรับภารกิจจากการดูแลความมั่นคงตามแนวชายแดนไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจ สองชายแดน อย่างเช่นกับกัมพูชา เราได้มีข้อตกลงร่วมกัน ระดับชายแดนคือการมี “ชายแดนสันติสุข” สามารถทำมาค้าขายในเชิงเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นด่านความมั่นคงตามแนวชายแดนที่ทหารรับผิดชอบ สามารถปรับให้เป็นด่านเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้นโยบายที่เกิดเป็นรูปธรรมไปแล้ว คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ  เมื่อก่อนกองทัพเป็นหน่วยที่ใช้งบประมาณ  ทั้งการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การจ้างบุคลากร แต่จากนี้ได้ให้นโยบายไปแล้วว่าต้องพยายามปรับกองทัพ ให้กลายเป็นหน่วยที่ใช้เงินน้อยลง และยังอาจเป็นหน่วยที่นำเงินเข้าประเทศ ถ้าพูดตามตรงคือการค้าขายอาวุธยุทโธปกรณ์

เราเห็นว่ามีบริษัทเอกชน ที่มีความพร้อม มีศักยภาพ ในการผลิตอาวุธที่มีคุณภาพ จึงมองว่าเราควรเน้นในส่วนนี้ แล้วอัปขึ้นมา อย่างเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทเอกชนได้ส่งรถยานเกราะล้อยาง ลอตแรกไป ส่วนผมเองก็ทำตัวเป็นเซลส์แมน  ถือว่าได้ผล เวลานี้มีหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน กำลังพูดคุยกัน หาข้อตกลง ซึ่งอาจมีข่าวดี ว่าประเทศเพื่อนบ้านกำลังจะสั่งซื้อรถเกราะล้อยาง หลายพันคัน ในวงเงินเป็นหมื่นล้านบาท นี่คือส่วนหนึ่งถือเป็นศักยภาพที่กองทัพทำได้ ซึ่งได้เริ่มขยับไปแล้ว และเชื่อว่าหากเราทำเรื่องนี้ ทุ่มเทอย่างจริงจัง โดยครบวงจร จะสามารถนำเม็ดเงิน เข้ามาในประเทศได้จำนวนมาก

ส่วนหนึ่งเราใช้ของเราเอง สามารถประหยัดได้ ส่วนที่สอง คือการขายออก สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือความพยายามที่จะปรับให้กองทัพทันสมัย

ส่วนเรื่องนโยบายที่ดิน กองทัพตั้งเป้าเอาไว้ชัดเจนในปีนี้ว่าเนื่องในปีเฉลมิพระเกียรติ ทหารจะเอาที่ดินให้ประชาชนได้ใช้ อย่างน้อยที่สุด 72,000 ไร่ ซึ่งส่วนนี้จะผลขยายออกไปในหลายทาง อย่างแรกคือมุมมองที่ประชาชนมีต่อทหารจะเปลี่ยนไป โดยจากนี้ไปกองทัพยินดีที่จะให้การสนับสนุนประชาชน นอกจากนี้ที่ดินจำนวนนี้ยังสามารถสร้าง “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ได้มาก ช่วยคนยากจน คนไม่มีที่ดินทำกินได้             

ในส่วนเรื่องของกำลังพลคือการปรับวิธีตรวจเลือกทหารเกณฑ์ จากเดิมที่ใช้วิธีเกณฑ์ทั้งหมด ต่อไปมั่นใจว่าใน3ปี เชื่อว่าจะได้ทหารที่สมัครใจเข้ามา 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการหยุดเกณฑ์ทหารโดยวิธีธรรมชาติ

-ครอบครัวของทหารที่สมัครเข้ามา ต่อไปก็จะต้องมีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาเรื่องการใช้กำลังที่ปรากฏเป็นข่าวอีกต่อไป

ผมได้ให้นโยบายกองทัพไป พร้อมทั้งติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลายเรื่องเป็นภาพจำที่ไม่ดี กับผู้ปกครอง และยังเป็นปัจจัยเชิงลบต่อนโยบายนี้ เช่นการฝึกซ้อมที่เกินกว่าระเบียบ  การนำทหารไปใช้งาน เรื่องรายได้ของทหาร มีการหักเงินทหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมได้ย้ำไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาจะน้อยลง  ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดเรื่องระบบการศึกษาให้กับพลทหาร มีระบบรองรับให้ได้ฝึกไปด้วย เรียนไปด้วย

ในความจริงแล้วปัจจัยที่ส่งเสริมให้นโยบายนี้สำเร็จ สถานศึกษา มหาวิทยาลัย ก็หาเด็กไปเรียนอยู่แล้ว ซึ่งสถานศึกษาได้สร้างระบบที่เอื้ออำนวยเพื่อให้พลทหารเข้าไปเรียนได้ อาทิ ระบบอีเลิร์นนิ่ง  ซึ่งในส่วนของกองทัพก็มาจัดหลักสูตรการฝึกในช่วง 6 เดือน จากนั้นก็สามารถเรียนได้ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือความก้าวหน้าของนโยบายที่เราทำมา

- การปรับครม.ครั้งล่าสุด “เศรษฐา1/1”  หลายกระทรวงมีการปรับเปลี่ยน แต่สำหรับกระทรวงกลาโหม แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง หมายความว่านายกรัฐมนตรี ได้ให้ความไว้วางใจเรา

ก็สามารถคิดได้เช่นนั้น ท่านนายกฯท่านเป็นห่วง ท่านกังวลในจุดนี้มาก ท่านก็ต้องเปลี่ยน  นอกจากนี้ประการต่อมา อาจเป็นเพราะท่านนายกฯต้องการให้ผมได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะดีหรือไม่อย่างไร หากจะให้คนใหม่ มาเริ่มต้นใหม่ก็เสียเวลาอีก หลายอย่างเราได้ทำไปแล้วอย่างต่อเนื่อง หากให้คนใหม่มาทำ ก็อาจจะสะดุดได้

-บรรยากาศในการทำงานกับผู้นำเหล่าทัพที่ผ่านมา พบว่าค่อนข้างออกมาเป็นบวกตลอด นายกฯน่าจะมองจากจุดนี้ด้วย

ก็น่าจะใช่ และสำหรับผมเอง ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี การทำงานก็ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไร

-วันนี้การเมืองไทย ห่างไกลจากรัฐประหารแล้วหรือยัง

ผมคิดว่าห่างไกล เพราะเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา กองทัพกับประชาชนค่อนข้าง มีช่องว่าง มีความไม่เข้าใจกัน  กองทัพเองก็ไม่เข้าใจประชาชน ส่วนประชาชนก็ไม่เข้าใจกองทัพ ว่าภารกิจด้านความมั่นคงของกองทัพนั้นต้องรับผิดชอบมาก มีทั้งเรื่องที่อธิบายได้ และอธิบายไม่ได้ และเมื่อมีผมมาอยู่ตรงนี้ จึงคิดว่าหน้าที่ของผมที่จะทำให้ห่างไกลรัฐประหาร คือการทำให้เกิดความเข้าใจกัน เป็นตัวเชื่อมที่เกิดความไว้วางใจต่อกัน อย่างน้อยที่สุด ประชาชนก็มีความเชื่อ และอุ่นใจได้ว่ากองทัพไม่ได้ปิดกั้นเอง แต่ต้อนรับประชาชน และพลเรือนที่จะมาบริหาร

ผมก็มองว่ากองทัพเองก็ให้เกียรติพลเรือน ให้เกียรตินักการเมือง เพราะฉะนั้น ทัศนคติเชิงลบเหมือนเมื่อก่อนจึงไม่มี และเมื่อไม่มีความร่วมมือก็เกิดขึ้น ทางด้านทหารก็เช่นกัน เมื่อก่อนอาจจะมองพลเรือนอีกมุมหนึ่ง แต่เมื่อผมมาอยู่ตรงนี้ อาจจะทำให้ทหารเข้าใจประชาชนมากขึ้นและความเข้าใจกัน นี่เองจะสามารถลดความขัดแย้ง ลดความรุนแรงได้เสมอ รวมถึงรัฐประหาร ซึ่งอาจจะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน