นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าแนวทางพัฒนาบ้านหนังสือในกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีบ้านหนังสือ 139 แห่ง ยุบสภาพไปแล้ว 4 แห่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้งานแล้ว ได้แก่ บ้านหนังสือวชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง บ้านหนังสือธรรมานุรักษ์ เขตสวนหลวง บ้านหนังสือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน บ้านหนังสือกรมดุริยางค์ทหารบก เขตพญาไท ปัจจุบันจึงเหลือบ้านหนังสือทั้งหมด 135 แห่ง ในปี 2567 มีเป้าหมายปรับปรุงจำนวน 45 แห่ง ปัจจุบันปรับปรุงไปแล้ว 76 แห่ง ปี 2568 ตั้งเป้าจำนวน 90 แห่ง และให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569
ปัญหาที่พบคือ แต่เดิมบ้านหนังสือหลายแห่งมีโครงสร้างเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ทั้งหมด จึงแบ่งเป็นการพัฒนา 2 ส่วนคือ 1.ซ่อมแซมในส่วนที่พอทำได้ เช่น หลังคารั่ว 2.ยุบสภาพของเดิมแล้วสร้างใหม่ นอกจากนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมายังพบปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อนดำเนินการต่อ จากการสำรวจมี 59 แห่งค่อนข้างทรุดโทรม อยู่ระหว่างสำนักงานเขตเสนอแผนปรับปรุง โดย กทม.กำหนดเกณฑ์การปรับปรุงบ้านหนังสือตามแผนงบประมาณ ปี 2568-2569 คือ ด้านกายภาพ ต้องมีความสวยงาม มีพัฒนาการและนวัตกรรม และรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านกิจกรรม ต้องมีกิจกรรมสร้างสรรค์ ตรงใจ และกิจกรรมเชิงรุก ด้านการให้บริการ มีการจัดการบ้านหนังสือ ประสานความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
ส่วนโครงการรถหนังสือได้ยกเลิกไปแล้ว เปลี่ยนเป็นระบบห้องสมุดออนไลน์ (E-library) ทดแทน เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน
ด้านความคืบหน้าแนวทางปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) นายศานนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันมี ศพด.ทั้งหมด 271 ศูนย์ ปรับปรุงแล้ว 109 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ 38 ศูนย์ ไม่ต้องปรับปรุง 124 ศูนย์ คิดเป็นความคืบหน้าร้อยละ 54 โดยแผนการปรับปรุงแบ่งเป็น ปี 2567 จำนวน 147 ศูนย์ ปี 2568 จำนวน 20 ศูนย์ ปี 2569 จำนวน 26 ศูนย์ ส่วนอีก 68 ศูนย์ ไม่สามารถปรับปรุงได้ เนื่องจาก เจ้าของไม่ยินยอม 19 ศูนย์ อยู่ระหว่างยุบสภาพ 2 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องหนังสือยินยอมและทำสัญญาเช่า 19 ศูนย์ อาคารอยู่ในสภาพสมบูรณ์ 12 ศูนย์ ไม่มีแผนปรับปรุง 12 ศูนย์ อยู่ระหว่างพิจารณปรับปรุง 2 ศูนย์ อยู่ระหว่างโอนกรรมสิทธิ์ 1 ศูนย์ อยู่ระหว่างเจ้าของขอคืนพื้นที่ 1 ศูนย์