การเดินทางของประชาชนในกรุงเทพ และปริมณฑล ที่เป็นทางเลือกของคนที่มีรายได้น้อย คือ การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) โดยเจ้าตลาด คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมีรถเมล์ร่วมบริการเอกชน บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ผู้ให้บริการรถเมล์พลังงานไฟฟ้า "ไทย สมายล์ บัส" ที่ตั้งใจจะยืนเบอร์ 1 ด้วยจำนวนรถเมล์ให้บริการ 2,400 คัน ผู้โดยสาร 6.5 แสนคนต่อวัน ในปี 2567

ทั้งนี้ “นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ผู้ให้บริการรถเมล์ และเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล กล่าวว่า ขสมก. จะหยุดให้บริการรถโดยสารประจำทาง 14 เส้นทาง ในวันที่ 24 เดือนกรกฎาคมนี้หลังจาก ขสมก. ถอดถอนรถให้บริการออกทั้งหมด บริษัท ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการเดินทางของผู้โดยสาร จึงเตรียมแผนนำรถเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าออกมาให้บริการทดแทน เบื้องต้นได้เตรียมรถให้บริการเพิ่มอีก 389 คัน และจะทยอยเพิ่มจำนวนต่อเนื่อง  ยืนยันมีความพร้อมในการให้บริการประชาชนในเส้นทางทั้งหมด ตั้งแต่ วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ และจะทำให้บริษัท มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันไทย สมายล์ บัส มีรถพร้อมให้บริการ 2,350 คัน และมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถต่อเนื่องตามความต้องการของผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น

สำหรับเส้นทางที่ขสมก.แจ้งหยุดให้บริการในเดือนกรกฎาคมนี้ทั้งสิ้น 14 เส้นทาง ประกอบด้วย สาย 3-36 (4) ท่าน้ำภาษีเจริญ – ท่าเรือคลองเตย ,สาย 4-17 (88) วัดคลองสวน – ลาดหญ้า ,สาย 3-37 (12) ห้วยขวาง – ปากคลองตลาด ,สาย 4-56 (165) พุทธมณฑลสาย 2 - ถนนศาลาธรรมสพน์ – สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ,สาย 1-39 (71) สวนสยาม – วัดธาตุทอง ,สาย 3 -1 (2) สำโรง – ปากคลองตลาด ,สาย 3-35 (1) ถนนตก – ท่าเตียน ,สาย 3-45 (77) สาธุประดิษฐ์ - สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ(จตุจักร) ,สาย 4-15 (82) พระประแดง – บางลำภู ,สาย 4-46 (84) สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ – สามพราน ,สาย 4-61 (515) สถานีรถไฟฟ้าพญาไท – หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา ,สาย 3-3 (11) อู่เมกา บางนา – มาบุญครอง ,สาย 3-6 (25) ท่าช้างวังหลวง – อู่สายลวด ,สาย 4-44 (80ก.) วปอ.11-สวนหลวงพระราม8 โดยในส่วนของสาย 3-36 (4) ,สาย 4-15 (82) ,สาย 4-46 (84) สาย 3-6 (25) ทั้งนี้ไทย สมายล์ บัส จะเดินรถให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

“บริษัทฯ คาดหมายรายได้ในช่วงครึ่งหลังปี 67 ว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 260 ล้านบาท/เดือน จากปัจจุบันที่มี รายได้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อเดือน โดยปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 3,400 บาท/วัน/คัน โดยเส้นทางที่มีรายได้ต่ำสุดอยู่ที่ 1,500 บาท/วัน/คัน และรายได้สูงสุด กว่า 3,500 บาท/วัน/คัน เช่นสาย 8 และ สาย140 อย่างไรก็ดี จุดคุ้มทุน ที่รวมต้นทุนการเงินอยู่ที่ 7,000 บาท/วัน/คัน”

นายวรวิทย์ กล่าวว่า TSB มีแผนพัฒนาบัตร HOP Card ของไทย มีสิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างลงพื้นที่สำรวจ และเจรจากับพันธมิตรร้านค้าต่าง ๆ จะเริ่มจากร้านค้า ร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร สปา และนวดแผนไทย ที่อยู่ตามแนว 123 เส้นทางที่รถเมล์ไทย สมายล์ บัส ได้รับสัมปทาน รวมถึงร้านค้า และร้านอาหารใน "กลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป" ตลอดจนโรงแรม และโรงพยาบาล คาดว่าจะใช้บริการได้ภายในปี 67 นำร่องร้านค้า และบริการของพันธมิตร รวมประมาณ 300 ร้านค้า และทยอยเพิ่มขึ้นต่อไป

TSB จะนำแนวคิดบัตร Easy Card ของประเทศไต้หวันที่ออกแบบสวยงาม มีหลายลวดลาย มีทั้งแบบบัตร แบบพวงกุญแจ เก็บสะสมได้ มาปรับใช้กับบัตร HOP Card ด้วย เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดให้มีผู้มาใช้บริการบัตร HOP Card มากขึ้น เริ่มเจรจากับศิลปินผู้ออกแบบชาวไทยไว้แล้ว คาดว่าหน้าตาของบัตรจะมีบัตรลวดลายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3-4 ลวดลายจาก 1 ลวดลาย

ภายในปีนี้ HOP Card มีประมาณ 1.4 แสนใบ จากผู้ใช้บริการประมาณ 3-4 แสนคนต่อวัน ภายในสิ้นปี 67 TSB ตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้บริการรถเมล์ 6-7 แสนคนต่อวัน จากผู้ที่ใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคนต่อวัน ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ใช้บริการรถเมล์ 50% จากปัจจุบัน 30% ยังเป็นรอง ขสมก. และตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้บัตร HOP Card เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนใบ

HOP Card เป็นบัตรเติมเงิน มีวิธีการใช้งานลักษณะเดียวกับบัตร Easy Card ของไต้หวัน เมื่อขึ้นรถ หรือลงเรือให้นำบัตรขึ้นมาแตะกับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เพื่อชำระค่าโดยสาร โดยต้องแตะบัตรทั้งตอนขึ้น และลง หากไม่แตะบัตรแค่ครั้งเดียวต่อการโดยสาร 1 รอบ ระบบจะไม่สามารถคำนวณระยะทางที่โดยสาร และค่าโดยสารเที่ยวนั้นจะถูกคิดเป็น “ค่าปรับ” ตามเรตค่าโดยสารสูงสุดของสายนั้น ๆ รถ 25 บาท และเรือ 20 บาท ทั้งนี้ค่าโดยสารรถเมล์ไทย สมายล์ บัส อยู่ที่ 15 - 25 บาท ขณะที่รถเมล์ไต้หวันค่าโดยสาร 15 - 30 บาท ไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสารเหมือนไทย จ่ายได้ทั้งเงินสด และบัตรส่วนใหญ่นิยมใช้จ่ายผ่านบัตร เงินสดมีตู้หยอดอยู่ข้างพนักงานขับรถ ต้องเตรียมเงินให้พอดี ไม่มีเงินทอน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน TSB Go Plus เพิ่มฟังก์ชันให้หลากหลาย อาทิ ตรวจสอบเวลาเดินรถ เมื่อกำลังเข้าป้าย คำนวณระยะเวลาเดินทาง และยังมีระบบสำหรับผู้ลงทะเบียนบัตร HOP Card โดยเฉพาะ ให้สามารถเช็กประวัติการเดินทางย้อนหลังพร้อมประเมินความพึงพอใจ หรือร้องเรียนติชมพนักงานผู้ให้บริการส่งข้อมูลตรงถึงฝ่ายปฏิบัติการได้ทันที           

จับตามองบทบาทของ “TSB” ในการบริการประชาชน “รถเมล์-เรือเมล์” ระบบขนส่งสาธารณะ อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าจับตา!!