วันที่ 5 ก.ค.67 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย นำเอกสารหลักฐานมายื่นต่อ ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เพื่อให้ตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท 

นายพร้อมพงศ์ ระบุว่า เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนให้ตรวจสอบการประมูลของโครงการระบบคลาวด์ ของกระทรวงสาธารณสุข งบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง 1 พันล้านบาท ซึ่งโครงหารดังกล่าว ทาง กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้บริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการหาบริษัทมาร่วมประมูลโครงการ ซึ่งจะมีการประมูลในช่วงเดือนมีนาคม และทางบริษัทดังกล่าวได้เชิญ 7 บริษัทมาร่วมประมูล แทนการ  E-Bidding ซึ่งถือว่าเรื่องที่แปลก และปรากฎว่าใกล้วันประกวดราคา มี 5 บริษัท ได้ถอนตัวออกไป ทำให้เหลือ 2 บริษัทร่วมกันประกวดราคา เพราะเอกสารที่ร้องเรียนมา พบว่า 7 บริษัท มีรายชื่อ 1 คน ปรากฎเป็นกรรมการใน 3 บริษัท และมี 1 คนถือหุ้น 2 บริษัทและยังเคยร่วมการค้ากับรัฐบาล เมื่อถึงวันประกวดราคาปรากฎว่า จากราคากลางที่กำหนดไว้ ทั้ง 2 บริษัท โดยบริษัทที่ชนะการประกวดเสนอราคา 991 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่แพ้การประมูลเสนอราคา 992 ล้านบาท ประกวดราคาต่ำลงมาไม่ถึง 1% จากราคากลาง (0.16%) ตามหลักของกฎหมาย ป.ป.ช.การประกวดราคาหากต่ำกว่า 1% มีความผิดปกติ มองว่าเป็นการสมยอมราคา สร้างความเสียหายต่อรัฐ

ดังนั้นจึงอยากให้ DSI ตรวจสอบผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว และคณะกรรมการที่ดูแลโครงการดังกล่าว รวมถึงบริษัทที่เข้าร่วมการประกวดราคาว่าเข้าข่ายการฮัวประมูลหรือไม่ 

เมื่อถามถึงรายละเอียดของ 7 บริษัทว่าจดทะเบียนเมื่อไหร่ ประกอบกิจการเกี่ยวกับระบบคลาวด์มาอย่างไร เคยทำงานร่วมกับรัฐมาแล้วหรือไม่ นายพร้อมพงศ์ บอกว่ารายละเอียดอยู่ในเอกสารที่ยื่นให้กับDSIไปแล้ว ส่วนก่อนหน้านี้ทั้ง 7 บริษัทเคยแข่งขันโครงการของรัฐด้วยกันหรือไม่ ตรงนี้ไม่มีรายละเอียด

ด้าน ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า เบื้องต้นทางดีเอสไอได้รับเรื่องไว้ดําเนินการตรวจสอบ โดยจะให้กองคดีฮั้วประมูลเร่งสืบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด ส่วนรายละเอียดอื่นๆยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันจะต้องเรียกบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 บริษัทเข้ามาอย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้นายพร้อมพงศ์ ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการ ขโมยสายไฟเคเบิ้ลทองแดงของ บริษัทดังกล่าวนี้ ที่ ไม่ได้ใช้ไว้แล้วและฝังไว้ใต้ดิน ทำให้เกืดการขโมยในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาท  ซึ่งตนเองมองว่า อาจจะมีคนในรู้เห็นเป็นใจในการชี้จุดเก็บ เพราะบางพื้นที่มีการขโมยช่วงเวลากลางวันและแอบใส่ชุดเจ้าหน้าที่เพื่อหลอกลวง

ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อองค์กรและรัฐบาล และมองว่า มีสื่อหลายช่องนำเสนอประเด็นดังกล่าวแต่ทางผู้บริหารของบริษัทรายนี้ ไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถือมีความผิดตาม ม.157 และในสัปดาห์หน้าตนจะเอา 2 เรื่องนี้ไปยื่นให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ถ้าเชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐจะมีการไปต้องยื่นหนังสือกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป