ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ชีวิตที่สิ้นหวังคือชีวิตที่ไม่รู้อนาคต แต่คุกนั้นคือยาหล่อเลี้ยงชีวิต ให้มีความหวังว่าอิสระภาพจะมาถึงเมื่อไร
ไทสันสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่จนเกิดความไว้ใจว่า ทั้งสองฝ่ายนั้นคือ “เพื่อน” ของกันและกัน เพราะในธุรกิจมืดที่เขาทำอยู่ต้อง “แบ่งกันกิน” อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ดูเหมือนว่าเพื่อนผู้ถือกฎหมายของเขา “กินไม่อิ่ม” ยิ่งเวลาผ่านไปก็มีคำขอ “เพิ่มของกิน” มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยคำขอที่เป็นอมตะในทุกฤดูกาลว่า “นายขอ” “เปลี่ยนนาย - มีนายมาเพิ่ม” และ “เงินเฟ้อ” ต้องขอกินมากขึ้น
ลินดาที่เป็น “บอส” ในเครือข่ายของไทสัน บอกกับเขาว่า “ไม่อั้น.. จ่ายไป” แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เขาและผู้ทำงานในเครือข่ายต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยลินดาได้กำหนดวิธีค้าขายใหม่ ให้เปิดเผยจำนวน “สิ่งของ” ที่ค้าขายแต่เพียงบางส่วน ไม่ให้มากเท่าจำนวนที่ขายจริง รวมถึงแจ้งชนิดของสิ่งของไม่ให้เป็นพวกที่มีราคาแพง เช่น บอกว่าเป็นไอซ์ไม่ใช่เฮโรอีน เป็นต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่มาก ๆ รวมถึงที่พยายามจะไม่จ่ายให้กับพวก “จ่าและดาบ” แต่ถ้าจะประหยัดจริง ๆ ก็จะลดขั้นตอนขอจ่ายถึง “ผู้การ” หรือ “ผบ.” นั่นไปเลย ส่วนที่ต้องจ่ายให้ “เจ้าที่” ซึ่งก็คือผู้มีอิทธิพลประจำถิ่น ก็ลดจำนวนที่จะจ่ายตรงลงไป แต่ให้แลกเปลี่ยนเป็นจำนวนของหุ้น คือร่วมลงทุนไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดและมั่นใจว่าจะไม่มีการเบี้ยวหรือหักหลังกันและกัน ที่สุดคือต้องจ่าย “ท่านต่าง ๆ” ที่อยู่นอกในกระบวนการยุติธรรมนอกเหนือจากสีกากี รวมถึงท่านที่อยู่ในทำเนียบฯ และนักการเมืองบางคน เพื่อสร้างอิทธิพลให้เป็นเกราะคุ้มครองต่อไป
ไทสันไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ในศาสนาของเขาก็มีคำสั่งสอนของศาสดาในเรื่อง “ดี - ชั่ว” เช่นกัน แต่เมื่อเขามาอยู่ในประเทศไทยและมีเพื่อนคนไทยมาก ๆ เขาก็ซึมซับในเรื่องของศาสนาพุทธไปทีละเล็กละน้อย แม้เขาจะไม่ได้เคารพนับถือหรือมีศรัทธา แต่เขาก็เห็นจริงกับเพื่อนชาวพุทธของเขาที่บอกเสมอว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” รวมถึงเรื่องของ “นรกสวรรค์” และ “กรรมใดใครก่อ” เพราะที่สุดเขาก็ได้รับกรรมที่เขาก่อนั้น ทั้งยังได้รู้อีกว่ากรรมที่เขาก่อนั้นเป็น “กรรมชั่ว” เพราะมันนำให้เขาไปมีชีวิตที่ลำบาก “เหมือนตกนรก” แต่ก็ยังมีที่เขายังไม่เข้าใจ เช่น คนที่ทำชั่วมากกว่าเขา ได้แก่ เจ้าหน้าที่และท่าน ๆ ทั้งหลาย ทำไมจึงลอยหน้าลอยตาอยู่ได้ และหลายคนก็ยิ่งมีอำนาจยิ่งใหญ่มากขึ้น มีความสุข(ร่ำรวย)มากขึ้น ทั้งที่คนเหล่านั้น “ทำชั่วมหาศาล” มากกว่าเขาและคนชั่วอื่น ๆ ที่จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่และท่าน ๆ เหล่านั้น
ยิ่งนานวัน ไทสันและเครือข่ายของลินดาก็ต้องจ่ายเงินมากขึ้น ลินดาบอกไทสันว่าขอให้ระวังตัวและอาจจะต้องค่อย ๆ ถอนตัว เพราะตอนนี้มี “โพยขอ” ปลิวว่อนเข้ามาที่ลินดามากมาย ด้วยคำอ้างที่ดูผิดปกติว่า “ท่านต้องเอาไปใช้หนี้คืนทุน” นั่นก็คือท่านที่ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องเอาเงินไปใช้คืนพรรคพวกที่หยิบยืมกันมา (จริงหรือไม่จริงไม่ทราบ) รวมถึงที่เจ้าหน้าที่ก็ขอค่า “รักษาพื้นที่” เพื่อไม่ให้ถูกย้ายออกไปจากพื้นที่นั้น ๆ ด้วย แต่พอเจ้าหน้าที่ต้องถูกย้ายออกไป ลินดาก็ไม่ทันตั้งตัวว่าจะต้องจ่ายใครเท่าไหร่ยังไง เพราะต้องตรวจเช็กข่าวก่อนว่า เจ้านายที่ย้ายเข้ามาใหม่ จะต้องจ่ายคนไหนเท่าไหร่อย่างไร ครั้นพอจ่ายช้าก็เกิดเรื่อง กระทั่งไทสันก็ถูกจับ โดยตอนแรกสารวัตรที่มาจับกุม บอกแต่ว่า “เดี๋ยวก็จะปล่อย ขอจับทำผลงานในฤดูโยกย้ายนี้ก่อน” แต่นั่นก็คือสาเหตุที่เขาต้องไปอยู่ในคุกบางขวางเป็นเวลาเกือบ 20 ปี
เขามารู้ภายหลังว่า ลินดามีเงินไม่พอจ่ายให้กับ “ท่านต่าง ๆ” ซึ่งเขาก็พอจะรู้ตัวแล้วตั้งแต่ตอนที่ต้องขึ้นศาลและไม่ได้รับการประกันตัว ถ้าพูดตามสำนวนไทยก็คือเขาถูก “ตัดหางปล่อยวัด” แต่ในความจริงน่าจะเป็นการติดคุกเพื่อ “ตัดตอน” นั้นมากกว่า คือเขาต้องมารับกรรมแทนพวกบอสตัวใหญ่ ๆ ซึ่งก็มีลินดานั้นด้วยคนหนึ่ง และก็ดูเหมือนว่าลินดาจะเอาตัวรอดไปได้ ซึ่งก็คงจะต้องใช้เงินไม่น้อย จนไม่มีเงินแบ่งมาจ่ายไถ่ตัวลูกน้อง “ตัวดำ ๆ” อย่างเขา ซึ่งข้อหาของเขาก็หนักมาก ว่าเป็นผู้ขายเฮโรอีนไปยุโรปและอเมริกาหลายสิบกิโลกรัม โทษคือประหารชีวิต แต่เขารับสารภาพ (รวมถึงซัดทอดให้ข้อมูลแก่ตุลาการว่ามีใครร่วมอยู่กระบวนการนี้ด้วย ที่รวมถึง “ท่านต่าง ๆ” ในกระบวนการยุติธรรมและการเมือง แต่ก็ไม่เห็นมีการดำเนินการทำอะไรกับคนเหล่านั้นเลย) จึงได้รับลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกตลอดชีวิต
เรื่องราวของไทสันถูกถ่ายทอดให้ผมฟัง จากอาจารย์ท่านหนึ่งที่ทำงานเป็นผู้ประสานงานในโครงการเพิ่มพูนคุณวุฒิและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้ต้องขัง ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ทำความตกลงร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ มาตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เมื่อ พ.ศ. 2522 นั้นแล้ว ไทสันมาติดคุกในช่วงประมาณ พ.ศ. 2530 ถึง 2549 เขาเริ่มเรียนภาษาไทยในหลักสูตรของกรมการศึกษานอกเรียน (กศน.) ที่มีจัดบริการให้กับผู้ต้องขังอยู่ก่อนแล้ว จนอ่านออกเขียนได้กระทั่งสอบเทียบได้ชั้นมัธยมต้น โดยใช้เวลาเพียง 6 ปี จากนั้นก็เข้าทดลองเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผ่านระบบการศึกษาทางไกล (สมัยนั้นยังใช้การเรียนการสอนทางไปรษณีย์) ก็สามารถสอบผ่านได้ จึงเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งตลอดเวลาเกือบ 10 ปีต่อมา เขาก็เรียนจนจบได้ถึง 3 ปริญญา ตั้งแต่ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ และส่งเสริมเกษตรและสหกรณ์ เขาสนิทสนมกับอาจารย์เจ้าหน้าที่ของ มสธ.หลายคน เพราะทางมหาวิทยาลัยมีจัดบริการเข้าไปสอนเสริมให้ในบางวิชา รวมถึงจัดสอบในสถานที่คุมขังให้ด้วย และเมื่อจะจบการศึกษาก็จะจัดอบรมเสริมประสบการณ์วิชาชีพในแต่ละสาขาวิชานั้นให้ด้วย โดยที่ตัวผมเองก็เคยเข้าไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ตั้งแต่สอนเสริม ประสานงานสอบ และเป็นวิทยากรฝึกอบรม ซึ่งก็เคยได้คุยกับไทสันมาบ้าง โดยแรก ๆ รู้แต่ว่าเขาเป็น “ขาใหญ่” ของบางขวาง แต่เมื่อได้คุยกันจริง ๆ ก็ดูสุภาพเรียบร้อย ทั้งยังมีฝีมือในการทำอาหาร ได้ทำอาหารมาเลี้ยงอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในเวลาที่มีกิจกรรมต่าง ๆ นั้นเสมอ ๆ รวมถึงที่มักจะพูดกับทุก ๆ คนเมื่อถามว่าชีวิตในคุกเป็นอย่างไรว่า “มีความสุขกว่าข้างนอกเยอะแยะเลย”
ในช่วง พ.ศ. 2549 - 2551 ผมต้องไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ขณะหนึ่ง พอกลับมาปฏิบัติงานที่ มสธ.ตามเดิมในปีถัดมา ผมก็เลือกเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ประสานงานสอบที่เรือนจำบางขวาง อย่างหนึ่งก็คือหวังว่าจะเจอกับไทสัน แต่พอไปถึงและถามหาเขา เจ้าหน้าที่ของเรือนจำบางขวางก็บอกว่าเขาได้รับการพระราชทานอภัยโทษออกไปแล้ว ผมก็เลยท้วงว่าพวกคดียาเสพติดได้รับการพระราชทานอภัยโทษด้วยหรือ เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าน่าจะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ของประเทศไทยกับประเทศของไทสัน ทั้งนี้น่าจะเป็นกรณีพิเศษและเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งใหญ่ คือเมื่อปี 2549 เป็นปีที่ 50 ของการครองราชย์หรือกาญจนาภิเษก ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 เมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัยจึงหาโอกาสคุยกับอาจารย์ที่เข้าไปประสานอยู่เป็นประจำ จนได้รายละเอียดมาดังกล่าว
สิ่งที่ไทสันเล่าให้ฟังเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามีความจริงอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่อง “ความชำรุด” ของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงคติชีวิตที่เขามองว่า “คุกนั้นคือสวรรค์” ที่อาจจะเป็นด้วยชีวิตที่ไร้อนาคตตั้งแต่ที่เขาเกิด และความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่เขาเผชิญมาโดยตลอด ซึ่งเราอาจจะเคยทราบข่าวว่า มีผู้ต้องขังหลายคนเมื่อออกมาจากคุกแล้วก็ไม่อาจจะใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติและมีความสุขกับชีวิตนอกกำแพงคุกนั้นได้ แล้วก็ต้องหาทางก่อคดีเพื่อกลับเข้าไปใน “สวรรค์” หรือคุกที่เขาคุ้นเคยนั้นต่อไป
ผมก็คิดว่าไทสันก็คงยังอาลัยอาวรณ์คิดถึงคุกเมืองไทยอยู่เหมือนกัน รวมทั้งที่ยังอาลัยอาวรณ์ใน “มิตรไมตรี” ต่าง ๆ ของคนไทยและ “เจ้าหน้าที่ไทย” ทั้งหลายนั้นด้วย