ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
"ไม่ต้องทำเรื่องยิ่งใหญ่อะไรเลย..แค่ให้คำมั่นเล็กๆ ว่าคุณจะเป็นตัวของคุณเองในแบบที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่นให้มากที่สุด เท่าที่คุณจะทำได้ ก็เพียงพอแล้ว..."
“ชนชาติญี่ปุ่น..มักจะสร้างศาสตร์และศิลป์ทางความคิด ขึ้นมาโอบประคองและสอนสั่งชีวิตอย่างเรียบง่าย ใกล้ตัว แต่ก็เต็มไปด้วยแก่นสารจากผัสสะของเจตจำนงแห่งธรรมชาติอันลึกซึ้ง..เหตุนี้การประกอบสร้างความเป็นตัวตนบนหนทางแห่งสัจธรรม จึงดำเนินไปเบื้องหน้าอย่างมีหลักการอันเต็มไปด้วยคุณประโยชน์จากภาวะสำนึกเสมอ..เหมือนเช่นการเพ่งพินิจสัมผัสแห่งชีวิต แล้วเกิดสำนึกว่า..ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องยิ่งใหญ่อะไรเลย ขอเพียงแค่ให้คำมั่นเล็กๆ..ว่าตัวเราจะเป็นตัวของตัวเอง..ในแบบที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่นให้มากที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ก็นับว่าพอเพียงแล้ว..ฐานรากทางความคิดเช่นนี้นำมาซึ่ง..ความสุขของการนึกถึงผู้อื่น อีกทั้งยังทำให้เข้าใจตนเองได้อย่างถ่องแท้อีกด้วย..
นี่คือ..หัวใจของศาสตร์ “โอโมอิยาริ” (Omoiyari) ..ที่ถือเป็นหนึ่งในเก้าศาสตร์สำคัญที่ชุบชูและประคับประคองชีวิตของชาวญี่ปุ่น..ให้มั่นคง เกิดความเข้าใจ และ เปี่ยมท้นไปด้วย “ค่าความหมาย”..
*แนวคิดแบบ “โฮ-เรน-โซ” (Ho-ren-So)..เป็นแนวคิดแห่งการสื่อสารและทำงานร่วมกัน..คำคำนี้มีความหมายโดยรวมว่า.. “รายงาน/แจ้ง/และศึกษา”...จึงเป็นศาสตร์ที่เน้นการปรับปรุง และไม่ยอมให้สิ่งที่เคยผิดพลาดหรือไม่ดีไม่งามนั้นเกิดขึ้นอีก
*แนวคิดแบบ “มอเตไน” (Mottainai)..เป็นแนวคิดแห่งการผดุงรักษาธรรมชาติ ..โดยให้ใช้ทรัพยากรด้านนี้อย่างทะนุถนอมและระมัดระวัง “ด้วยจิตสำนึกแห่งการตระหนักรู้ในบุญคุณของธรรมชาติ..ตลอดเวลา”
*แนวคิดแบบ “ชิน-กิ-ไท” (Shin-gi-Tai)เป็นแนวคิดที่ย้ำเตือนชีวิตถึงว่า จักต้อง ..ตระหนักอยู่เสมอว่าร่างกาย จิตใจ และเทคนิคต่างๆ เป็นสามองค์ประกอบสำคัญเพื่อใช้ในการต่อสู้กับอุปสรรคนานา...ร่างกายและจิตใจที่ดี..ย่อมคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาและปรับแต่งชีวิตให้ก่อเกิดทักษะที่สมบูณ์..
*แนวคิดแบบ “ชู-ฮา-ริ” เป็นแนวคิดที่เน้นถึงภาวะแห่งการ “ตาม แตกแยก และอยู่เหนือ” เป็นเทคนิคในสามขั้นตอนแห่งการเปิดรับความรู้..อันประกอบด้วย.... “ชู"..การเรียนรู้พื้นฐาน อันเป็นความรู้ที่ได้รับจากการสอนสั่งของครูบาอาจารย์ “ฮา”..คือการเริ่มการทดลอง..เรียนรู้แบบบูรณาการในชีวิต..เพื่อให้เข้ากับการปฏิบัติได้จริง.. “ริ”..คือภาวะการปรับการเรียนและการเรียนรู้ของชีวิตเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆในโลกจริง
* “อิคิไก”..ความหมายของการมีชีวิตอยู่..โดยที่ในญี่ปุ่นมีความเชื่อที่เชื่อกันว่า “คนที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต จะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น”
* “โอโมเตะนา ชิ” (O-Mo-The-Na-Shi)..คือแนวคิดในการให้บริการที่ดีที่สุด โดยไม่หวังผลตอบแทนอันใด
*ไคเซ็น(Kaizen)..เป็นวิธีปรับปรุงสิ่งต่างๆในชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยอิงอยู่กับทฤษฎีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เล็กๆน้อยๆอย่างต่อเนื่อง..จนสามารถบังเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด..
* “วะบิ-ซาบิ” (Wabi-Sabi)..หลักคิดในการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของเรา และยอมรับในวัฏจักรแห่งความเป็นธรรมชาติของชีวิต สำหรับหลักคิดแบบ “โอโมอิยาริ”..อันหมายถึง"ความห่วงใยและการแสดงความห่วงใยผู้อื่นอย่างจริงใจ..มีองค์ประกอบหลักอยู่สองส่วนด้วยกัน...คือ.. “โอโมอิ” ซึ่งก็หมายถึง..วิถีที่ผู้คนนึกคิด ความรู้สึก อารมณ์ และ ความปรารถนาของตน โดยไม่ทิ้งขว้างให้เสียเปล่า!/..กับ “คิเรอิ” คือ..ความสะอาดสะอ้าน มีความเรียบร้อยพิถีพิถัน เป็นความงามของสิ่งละอันพันละน้อย
เหตุนี้ความหมายโดยรวมของ “โอโมอิยาริ” จึงอยู่ที่ “การคำนึงถึงความต้องการของผู้อื่น ด้วยจิตใจที่เอื้ออาทร เปี่ยมเต็มไปด้วยความสงสารเห็นใจ”..ซึ่งเปรียบดั่งการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ!
“โอโมอิยาริ”..ความสุขแห่งการนึกถึงผู้อื่นและเข้าใจตนเอง../ถือเป็นหนังสืออันล้ำค่าต่อการใคร่ครวญชีวิตอย่างเป็นความหมาย..เล่มนี้เขียนโดย.. “Erin Niimi Longhurst” นักเขียนลูกครึ่งญี่ปุ่น-อังกฤษ..ผู้รักอารยธรรมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง...หนังสือเล่มนี้สร้างคุณประโชน์ในหลายๆมิติของชีวิตและได้รับแปลเป็นภาษาต่างๆไปแล้วถึงเจ็ดภาษา...ด้วยสาระสำคัญที่ว่า.. “มันคือรูปแบบหนึ่งของความเมตตากรุณาโดยที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน...เป็นการจำลองภาพว่าถ้าเราต้องไปตกอยู่กับสถานการณ์เดียวกับคนคนนั้นเราจะทำเช่นไร?..และจากมุมมองตรงส่วนนั้นก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า..เขาต้องการอะไร?..แล้วเราก็ต้องลงมือกระทำและปฏิบัติเพื่อทำให้พวกเขาคลายทุกข์...มีความสุข หรือสะดวกสบายขึ้น มันคือการตระหนักถึง ความปรารถนาของผู้คนรอบข้างมากขึ้น แล้วลงมือกระทำบางอย่าง โดยคิดถึงผู้อื่นมากขึ้น ช่วยให้ได้เปิดใจยิ่งขึ้น และ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ..ทำให้เราเป็นคนมีน้ำใจและนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น จากการพยายามทำสิ่งต่างๆรอบตัวเองให้ดีขึ้น..”
ในวิถีสรุป “โอโมอิยาริ” จะซึมซับต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ให้มองไกลออกไปจากตัวตน..ตระหนักรู้ในการเข้าใจอย่างถ่องแท้และอ่อนโยนต่อชีวิตของผู้อื่นด้วยความหวังดี.. เป็นปรารถนาที่กลั่นออกมาจากใจและถ่ายออกมาด้วยลมหายใจอันพิสุทธิ์ อาจเฉียดใกล้หรือคล้ายเหมือนกับ “ความหมายของการมีชีวิตอยู่” แห่ง “อิคิไก” ที่ส่งผลต่อสำนึกรู้ว่าเราจะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น..
การผสมผสานศาสตร์แห่งจังหวะชีวิตในหลากมิติ..ทำให้ “โอโมอิยาริ” เป็นดั่งกระจกส่องสะท้อนถึงผู้อื่นได้อย่างกระจ่างชัดและเข้าใจ..โดยเฉพาะรากฐานแห่งการเป็นชีวิต ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วยการเรียนรู้อดีต กระทั่งก่อเกิดเป็นความเมตตาระหว่างกันขึ้นมา..มันคือแนวทางแห่งศานติ..ที่คนทุกคนบนโลกนี้สมควรที่จะรู้ และเรียนรู้ด้วยการรับรู้จากมันทั้งด้วนสัญชาตญาณอันเปิดเผย และด้วยอุปนิสัยอันล้ำลึก.. “สิ่งที่มีความหมายเป็นน้ำหนักของตัวตน อาจบางเบาเหมือนขนนก หรือ เถ้ากระดาษ ที่ปลิวคว้างอยู่ในสายลม”
“วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” ผู้แปล “อิคิไก” แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างมีสีสัน..หยั่งเห็นและเข้าใจถึงความเป็น “พหุปัญญา” อย่างแท้จริง..
*นับเป็นหนังสือที่ควรสดับรู้..เพื่อชีวิตที่มั่นคงและเติบโต..สู่อนาคตต่อไป.. “เมื่อเข้าใจในตนเอง เราจะนึกถึงผู้อื่น...และเมื่อเราได้นึกถึงผู้อื่น เราก็ย่อมจะเข้าใจตนเอง..”