รายงาน : พาไปเที่ยวงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยภาคใต้

มีการเปิดงาน “อัตลักษณ์เมืองใต้ หนังตะลุง โนรา” ในมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2567 ที่สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับจังหวัดสงขลา คนในพื้นที่เข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก

งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย เป็นงานมุ่งยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้เป็นงานระดับชาติ เพื่อเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวของคนในพื้นที่แล้ว ยังทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเดินเที่ยวได้ซึมซับบรรยากาศของงาน เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นไปในตัวด้วย และงานยังเป็นส่งเสริมสนับสนุนศิลปิน ช่างภูมิปัญญาพื้นบ้าน ให้มีพื้นที่ในการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สืบสาน รักษา และต่อยอด รวมทั้งสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(โนรา) ผู้ร่วมงาน กล่าวว่า งานครั้งนี้ได้ให้พื้นที่ศิลปินแห่งชาติถ่ายทอดความรู้ไปสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยได้แสดงโนราในชุด “สืบศิลป์ทักษิณา เทิดจักรา พระวชิรเกล้า” จะทำให้เด็กที่ร่วมแสดงและเข้ามาชมได้รับความรู้ เรียนรู้ท่ารำ และการแสดงโนราที่ประยุกต์ระหว่างศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมกับสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ทำให้เด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจ นำไปใช้ต่อยอดพัฒนาการแสดงโนราต่อไป และในงานมีนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโนราด้วย

ด้าน นายอุดมศักดิ์ สุวรรณธนะ เลขานุการสมาคมหนังตะลุงปักษ์ใต้ กล่าวว่า เป็นการเปิดโอกาสศิลปินพื้นบ้านด้านหนังตะลุง และด้านอื่นๆ มาแสดงในงาน ซึ่งหนังตะลุงเป็นการแสดงพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าของภาคใต้และนับวันจะหาชมได้ยาก ทำให้สมาคมฯได้อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้ไปสู่เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งการแสดงมีการสอดแทรกสาระด้านคุณธรรมลงไปด้วย ทั้งช่วยให้ศิลปินพื้นบ้านมีงานแสดงและมีรายได้ด้วย

ส่วนทางด้าน นางสาวชญานิศ คงสุวรรณ์ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนโหนดศิลป บ้านทองล้ง หมู่ที่ 3 ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา กล่าวว่า มาสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ภาคใต้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จักสานใบตาลโตนด เช่น โคมไฟ พวงมาลัย ดอกไม้ ทำให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้มรดกภูมิปัญญาภาคใต้และผลิตภัณฑ์จักสานของภาคใต้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น และมีลูกค้าเพิ่มขึ้น ช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมเศรษฐกิจของภาคใต้ จึงอยากให้จัดงานเช่นนี้ทุกปี

สำหรับกิจกรรมในงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคใต้ มีการแสดงรำโนราถวายพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 การแสดงโขน โนรา หนังตะลุง หนังตะลุงคน การแสดงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ชุด “วิถีลุ่มน้ำสงขลา” โดยอาจารย์ควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ ศิลปะการแสดง(ดนตรีพื้นบ้าน) การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายทางวัฒนธรรม และเยาวชนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด เป็นต้น

หลังจากนี้ วธ.จะจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 16 -  20 สิงหาคม 2567 ณ พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ภาคกลางและภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 22 - 26 สิงหาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 5 - 9 กันยายน 2567 ณ ลานศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขอเชิญชวนประชาชนคนพื้นที่เที่ยวงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย เพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ยังส่งเสริมท่องเที่ยว สร้างรายได้ท้องถิ่นด้วย