ผู้ว่า ธปท.มองจีดีพีไทยปีนี้โต 3% หมดลุ้นพุ่ง 4-5% เหมือนอดีตหากไม่ปรับโครงสร้าง ศก. ย้ำ ดบ.เหมาะสมแล้ว

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แบบจำลองของ ธปท. มองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2566-2571 คาดว่าจะเติบโตได้แค่ 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเมื่อมองในภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่เป็นการฟื้นตัวในภาพรวม และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่ยังมีหลุมรายได้ที่เกิดจากรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นไปตามกาลเวลา แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น

โดย ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ไว้ดังนี้ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% ไตรมาส คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3% การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัย คงไม่ใช่เพียงแค่การใช้มาตรการกระตุ้นแต่เพียงเท่านั้น หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ทั้งนี้มองว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

"ศักยภาพของเรา ถ้าปล่อยไปแบบนี้ก็จะได้แค่ 3% ถ้าจะให้มากกว่านี้ ต้องปรับโครงสร้าง ไม่ใช่แค่การกระตุ้น เพราะกระตุ้นแล้ว สักพักก็กลับมาเท่าเดิม เรากระตุ้นกันมาเยอะแล้ว แต่ไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้ยกระดับศักยภาพที่แท้จริง เราต้องยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งจะนำมาซึ่งการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานของทั้งรัฐและเอกชน ลงทุนด้านเทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพแรงงาน ด้าน R&D เหล่านี้จะช่วยยกระดับจาก 3% ขึ้นได้" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ทั้งนี้ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน แต่ ธปท.ไม่ได้ปิดประตูการปรับลดดอกเบี้ย หากมุมมองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ มองว่าการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่การใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพียงเครื่องมือเดียว แต่ต้องมีเครื่องมืออื่นเข้ามาช่วยเสริมด้วย เช่น มาตรการการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

#ข่าววันนี้ #จีดีพี #ดอกเบี้ย #แบงก์ชาติ #หนี้ครัวเรือน #เงินเฟ้อ