นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank โดยศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว. ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 2/2567 และคาดการณ์อนาคต” จากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 500 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ระดับ 52.06 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 52.36 เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านต้นทุนการประกอบการและปริมาณสินค้าคงคลัง ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันสำคัญ ได้แก่ ด้านต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังขาดความชัดเจน กำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลง และประเด็นอื่นๆ เช่น ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีด้านการผลิต ประมาณ 55% มีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากไตรมาส 2/2567 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการส่งออก ทำให้ธุรกิจการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่า ผลประกอบการและสภาพคล่องของธุรกิจการผลิตจะดีขึ้น และเชื่อมั่นจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจการผลิตในภาคการเกษตร มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้างยังคงมีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด และต่ำกว่าธุรกิจอื่น เช่นเดียวกับในไตรมาสที่ 1/2567 ที่ผ่านมา
ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 3/2567) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 58.60 โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ จำนวนคำสั่งซื้อ ราคาขายของสินค้า สภาพคล่องของธุรกิจ และปริมาณการผลิต เนื่องจากคาดการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านต้นทุนการประกอบการยังคงอยู่ในระดับเดิม
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที โดยมาตรการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) และกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ต้องการมากที่สุด คือ มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ในขณะที่ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) ต้องการมาตรการเงินลงทุนยกระดับมาตรฐาน หรือปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นายพิชิต กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจยังไม่สนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นมากนัก และยังมีความกังวลด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับเอสเอ็มอียังต้องการมาตรการสนับสนุน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อ และส่งเสริมต่อการประกอบธุรกิจให้เติบโต ทั้งนี้ ในฐานะที่ SME D Bank มีบทบาทที่เป็นธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านบริการทั้งด้านการเงิน ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อช่วยลดภาระ ผ่อนหนักเป็นเบา สามารถบริหารจัดการต้นทุนธุรกิจได้เหมาะสม เช่น สินเชื่อ “Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้” ทำธุรกิจมา 1 ปีก็กู้ได้ วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 6.50% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 เดือน อีกทั้ง มีโปรโมชันพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยใช้บริการสินเชื่อจาก SME D Bank มาก่อน เมื่อยื่นกู้และได้รับการอนุมัติ ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ภายใน 30 กันยายน 2567 รับ Cash Back สูงสุด 3,000 บาท
ควบคู่กับให้บริการด้านการพัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจ ฟรี ผ่านแพลตฟอร์ม “DX” by SME D Bank (dx.smebank.co.th) ที่รวบรวมการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครบถ้วนในจุดเดียว เช่น Business Health Check ระบบตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจ E-Learning รวบรวมหลักสูตรความรู้สำคัญ ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ ระบบจองเข้าร่วมกิจกรรมเติมความรู้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และสิทธิประโยชน์พิเศษอื่นๆ อีกมากมาย สามารถแจ้งความประสงค์รับบริการ ทั้งด้านการเงินและการพัฒนาได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น LINE Official Account : SME Development Bank เว็บไซต์ www.smebank.co.th และสาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357