วันที่ 4ก.ค.2567 เมื่อเวลา11.00น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสด โดยน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ตั้งถามรมว.ยุติธรรม กรณีการเสียชีวิตของน.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง แกนนำกลุ่มทะลุวัง เมื่อวันที่14พ.ค.ที่ผ่านมา ยังอยู่บนความคลุมเครือ กระบวนการรักษาชีวิตไม่ชัดเจนในระหว่างถูกฝากขังในคดีมาตรา112 ภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ว่า กรณีการเสียชีวิตของบุ้ง เป็นข้อบ่งชี้ได้ชัดมากว่ามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยของกรมราชทัณฑ์มีปัญหาแน่นอน

ตนไม่แปลกใจกับเคสนี้ที่มีการใช้สิทธิประกันตัวด้วยปัญหาสุขภาพ ที่ตนเคยคิดว่าสิทธิดังกล่าวใช้ได้กับทุกคน แต่กรณีของบุ้งแตกต่างออกไป สะท้อนให้เห็นถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเรามีปัญหา ตนจึงอยากถามว่าสาเหตุการเสียชีวิตของบุ้งที่แท้จริงคืออะไร ในกระบวนการกู้ชีพเพราะเหตุใดจึงไม่มีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED เวลาการเสียชีวิตที่แท้จริงคือเวลาใด คณะกรรมการที่ทางกระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้นมาสอบสวนได้อะไรบ้าง กรมราชทัณฑ์จะมีการรับผิดชอบอย่างไร

ด้านพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า การเสียชีวิตของบุ้ง เป็นการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องมีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยให้อัยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยแพทย์ที่ไม่ใช่ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเมื่อชันสูตรพลิกศพแล้ว กระบวนการทำสำนวนทั้งหมด จะต้องเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้อง หรือทนายความเข้าร่วมทั้งกระบวนการ สามารถเพิ่มพยานในชั้นการพิจารณาของศาลได้ ทั้งนี้เท่าที่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตของบุ้ง ทางสาขานิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุว่า เกิดจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือดร่วมกับโรคหัวใจโต โดยกรณีนี้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จำนวน8ราย ที่ตั้งโดยกระทรวงยุติธรรม ได้ขยายเวลาการสอบสวนออกไปอีก30วัน แต่คณะกรรมการฯได้ทำความเห็นเบื้องต้นออกมาว่า เป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ปรากฎร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด อ้างอิงจากใบมรณบัตร และการตรวจพิสูจน์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ประกอบกับกล้องวงจรปิดในคืนวันเกิดเหตุ พบว่า บุ้งได้นอนหลับพักผ่อนเป็นปกติ ภายในฝ่ายปกครองของผู้ต้องขังหญิง 

“จากนั้นในช่วงเช้าเวลา06.12น. ของวันที่14พ.ค. บุ้งได้ลุกขึ้นมานั่งที่เตียงผู้ป่วย เริ่มคว่ำหน้าลง และมีการชักกระตุก  เจ้าหน้าที่จึงได้กดกริ่งและแจ้งผู้ควบคุมเข้าไป จนสรุปเห็นควรส่งให้แพทย์มาร่วมกันดำเนินการ ถ้าถามว่าบุ้งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ในรายงานระบุว่าเสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่ในระหว่างการช่วยยื้อชีวิตอาจเป็นปรากฎการณ์เหมือนการเสียชีวิตแล้ว

ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นว่า ตามมาตรา150ของการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ เราเปิดโอกาสให้สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ญาติของผู้ตาย สามารถยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลฯได้ ยืนยันว่าการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามวิชาชีพ ตามมาตรฐานสากล ตามหลักทางการแพทย์ ทั้งนี้รายละเอียดอย่างเป็นทางการขอให้รอคำสั่งจากศาลฯที่ถือเป็นที่สุด และมีความเที่ยงธรรม” รมว.ยุติธรรม ระบุ