เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 น. สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหารและอาคารสถานที่ เป็นประธานในพิธี ฯ พร้อมนำเหล่าคณะผู้บริหาร บุคลากรสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และหน่วยงานในพระดำริ ฯ  ร่วมน้อมเกล้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคลอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติที่จัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย พิธีสักการะศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่ พิธีถวายพระพรชัยมงคล และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระกุศล แด่องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงเพื่อประเทศชาติอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่ที่ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2530 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาด้านงานวิจัย งานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์ การสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนและสรรพชีวิตทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตลอดจนทรงวางรากฐานงานด้านการศึกษา เพื่อการพัฒนาวงวิชาการวิทยาศาสตร์ พร้อมพระราชทานแนวทางความร่วมมือเพื่อเสริมศักยภาพและพัฒนาบุคลากร นับเป็นปัจจัยหลักสำคัญของการพัฒนาประเทศ ที่จะนำไปสู่โครงการแลกเปลี่ยน โครงการฝึกอบรม รวมถึงการประชุมทางวิชาการต่างๆ

โดยภายในปีพุทธศักราช 2567 นี้ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีพระดำริให้จัดการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติครั้งสำคัญ คือ การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 (The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress) ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี” (The Challenges of One Health : The Roles of Biosciences and Chemistry) ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม พุทธศักราช 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

นับเป็นการประชุมที่สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างสุขภาพของคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นการเผยแพร่และแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์ ความก้าวหน้างานวิจัยตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) เพื่อสร้างเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้พระปณิธานแน่วแน่ที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย