จากสถานการรณ์ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ประเมินดีมานด์ทั่วโลกแล้วน่าจะมีปริมาณมากพอในการที่จะขับเคลื่อนให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศสามารถสร้างรายได้ได้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่จต้องมีแนวทางการขับเคลื่อนให้ภาคการท่องเที่ยวก้าวไปถึง Best Case ดังกล่าว

วางกรอบ 6 ยุทธศาสตร์หลัก

ซึ่ง นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ในส่วนของ สทท.ได้วางกรอบไว้  6 ยุทธศาสตร์หลักประกอบด้วย 1.ตั้ง Thailand Team โดยเสนอให้ ททท. ใช้สำนักงานในต่างประเทศทั้ง 29 สำนักงาน ผนึกพันธมิตรเอเย่นต์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละตลาดจำนวน 10 ราย เร่งทำการตลาดทั้งในเชิงรุก-รับในช่วงครึ่งปีหลังแบบฮาร์ดเซล เพื่อเติมจำนวนนักท่องเที่ยวทันที 4 ล้านคน พร้อมเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดในตลาดศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย จีนและคนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์และฮ่องกง อาเซียน และออสเตรเลีย เพื่อเพิ่มวันพัก และเพิ่มค่าใช้จ่าย เพื่อให้มีอัตราการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้น

ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลางมีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ในระดับ 100,000 บาทต่อคนต่อทริป เร่งพัฒนามัคคุเทศก์ภาษาอาหรับ รวมถึงฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้ให้ข้อมูลในด้านเมดิคอลแอนด์เวลเนส ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ รวมถึงหากิจกรรมเสริม เติมเมืองน่าเที่ยว เติมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ หรือสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นเมืองเกษียณโลก เพื่อเพิ่มวันพักและรายได้การท่องเที่ยว” นายชำนาญกล่าว

กระจายนทท.สู่เมืองน่าเที่ยว

อีกทั้งนายชำนาญ ยังกล่าวต่อถึง ข้อ 2 ในการใช้แอร์พอร์ตเป็นฮับใช้รถบัสและบริษัทนำเที่ยวเป็นตัวกระจายนักท่องเที่ยวออกไปสู่เมืองน่าเที่ยว เพื่อตอบโจทย์นโยบายส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว โดยอยากให้รัฐบาลช่วยดูแลปัญหาและอุปสรรค เช่น พัฒนาระบบสาธารณูปโภค ซ่อมและสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้สินค้าท่องเที่ยวในพื้นที่มีความพร้อมสำหรับเสนอขายทั้งตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศ 3.เติมตลาดไทยเที่ยวไทยอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาส 3 นี้เท่านั้น เช่น ทำโครงการบัสทัวร์ทั่วไทย ทุกภาคทั่วประเทศช่วง 3 เดือนในช่วงไตรมาส 3 นี้ เช่น สนับสนุนเดือนละ 5,000 คัน คันละ 10,000 บาท โครงการรัฐทัวร์ทั่วไทย สนับสนุนให้กลุ่มข้าราชการออกเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา หรือโครงการท้องถิ่นเที่ยวไทย เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น

ส่วน 4.ขอรัฐจัดสรรงบประมาณจากโครงการดิจิทัลวอลเลตมาสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว 20% หรือ 100,000 ล้านบาท 5.ซ่อม-สร้างแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพบุคลากร และผู้ประกอบการ ให้มีความพร้อมเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ที่ดีในทุกขั้นตอนการเดินทางของนักท่องเที่ยว (Customer Journey) และเป็นสปริงบอร์ดของภาคการท่องเที่ยวเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืนต่อเนื่องในปี 2568 และปีต่อ ๆ ไป และ 6.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการท่องเที่ยวในระยะยาว เพื่อผลักดันดัชนี TTDI จากอันดับที่ 47 สู่ 25 ของโลก โดยใช้กองทุนท่องเที่ยวฯ เพื่อซ่อมสร้างคนและแหล่งท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐาน ความปลอดภัย ห้องน้ำสะอาด ป้ายบอกทาง ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้นักธุรกิจลด

อย่างไรก็ตาม นายชำนาญ  กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างมาก ทั้งมาตรการวีซ่าฟรี 93 ประเทศ/พื้นที่ การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์เพื่อการท่องเที่ยว การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ การผลักดันให้เกิดเมกะอีเวนต์ต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมเมืองรองให้เป็นเมืองน่าเที่ยวผ่านมาตรการภาษี แต่อยากให้พิจารณาข้อเสนอทั้ง 5 ของสภาท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้ เป้าหมายรายได้ 3.5 ล้านล้านสำหรับปีนี้ มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน

อีกทั้ง นายชำนาญ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวโดยรวมของไทยยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยจากการสำรวจค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาส 2/2567 พบว่า อยู่ที่ระดับ 79 จากค่าปกติคือ 100  ซึ่งรายได้หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อภายในประเทศที่กำลังหดตัว ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัดในไตรมาส 2/2567 มีจำนวนประมาณ 2,683 บาท/คน/ทริป ลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 6,856 บาท/คน/ทริป สะท้อนถึงกำลังซื้อที่หดตัวมากในไตรมาสนี้ ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2567 จะอยู่ที่ระดับ 75 สะท้อนชัดเจนว่าภาพรวมของการท่องเที่ยวในไตรมาส 3 จะยิ่งแย่กว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา