"ศาลรัฐธรรมนูญ" รอตรวจพยานหลักฐาน "คดียุบพรรคก้าวไกล" 9 ก.ค. นัดพิจารณาคดี 17 ก.ค.นี้ ด้าน "ก้าวไกล" ขอเพิ่มวันประชุมสภาฯ หลังกม.ค้าง 41 ฉบับ รัฐบาลไม่ขัด "วันนอร์" มอบพิเชษฐ์ คุย "วิป 2 ฝ่าย" ขณะที่พิธา ทวงสัญญา "นายกฯ-ครม.-สส." กลางสภาฯ ร่วมกันทำตามสัญญาเอ็มโอยูปี 66 ให้สำเร็จ

  เมื่อวันที่ 3 ก.ค.67  ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  โดย นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล  และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่   หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม  พ.ร.ป ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560  มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง  เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567  โดยศาลฯ เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีให้รอฟังผลการตรวจพยานหลักฐานของคู่กรณีในวันอังคารที่ 9 ก.ค.นี้  และนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 17 ก.ค.  เวลา 09.30 น.


 วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่หนึ่ง)   โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบพระบรมราชโองการประกาศราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 พ.ศ.2567


 ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นหารือ ว่า เราใช้กรอบการจัดวาระประชุม ต่อเนื่องจากสมัยที่ผ่านมา คือมีการประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน แต่ฝ่ายค้านได้หารือกันเราพบว่าขณะนี้มีร่างกฎหมายทั้งของรัฐบาลและ สส.รวมถึงของประชาชนที่ยื่นเข้ามาค้างอยู่ทั้งหมด 41 ฉบับ อีกทั้งมีรายงานของหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2565 ทั้งหมด 12 ฉบับ  ที่สำคัญยังมีญัตติที่ค้างการพิจารณาและบรรจุวาระแล้วทั้งสิ้น 54 ฉบับ ซึ่งญัตติหลายเรื่องสำคัญมาก ทั้งทุเรียนไทย ระเบียงเศรษฐกิจ ถ้าใช้กรอบเวลานี้เกรงว่าอาจจะพิจารณาไม่ทันในสมัยประชุมนี้และสมัยประชุมหน้า


 อยากปรึกษาประธานสภาฯ ว่าควรต้องเพิ่มวันประชุมในแต่ละสัปดาห์หรือไม่ แต่เราเข้าใจว่าเดือนก.ค.นี้เป็นเดือนมหามงคล และในหลายจังหวัดจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเฉลิมพระเกียรติ โดยเฉพาะในวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ผมจึงคิดว่าต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะเริ่มเดือนส.ค.ก็ได้ แต่เพื่อนสมาชิกอยากได้ความชัดเจนว่าหากมีการเพิ่มวันประชุมควรจะเป็นวันไหน ฝ่ายค้านเรายินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เรื่องนับองค์ประชุมส่งเดชไม่มีอยู่แล้วนายณัฐวุฒิ กล่าว


 ด้าน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตนคิดว่าสมาชิกฝั่งรัฐบาลไม่ได้ติดขัดอะไรในการเพิ่มวันประชุมสภาฯ เพราะพวกเรามาทำงานให้ประชาชนอยู่แล้ว ถ้ากฎหมายที่ค้างอยู่ถึง 41 ฉบับ มีของตนและมีของเพื่อนสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่หลายฉบับ ก็อยากจะให้สภาได้เร่งออกกฎหมาย เพื่อให้ทางส่วนราชการที่ทำงานอยู่ได้เร่งออกกฎหมายเช่นกัน เพื่อมาประกบให้สภาได้พิจารณาให้ประชาชน


 นอกจากนี้ เวลาที่เราหารือกับประธานในสมัยที่แล้ว จะได้หนังสือตอบรวดเร็วมาก แต่ปีที่ผ่านมา 2 สมัยประชุม เราหารือกับท่านประธานไปสิ่งที่หารือไปตอบรับกลับมาที่เป็นจดหมายน้อยมาก  จึงอยากให้ประธานเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้กับเพื่อนสมาชิกด้วย


 ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนจะให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 นัดประชุมในสัปดาห์หน้าระหว่างวิปฝ่ายค้านและวิปฝ่ายรัฐบาล เพื่อหาข้อตกลงกำหนดวัน ซึ่งอาจจะเริ่มในเดือนส.ค.ว่าจะเพิ่มอย่างไร จะเพิ่มเป็นกรณีพิเศษหรือจะเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน 


 ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือว่า ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรี ครม. ส.ส. และพรรคการเมือง ให้ร่วมผลักดันตามที่ได้สัญญาไว้ในบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยูที่พรรคการเมืองต่างๆทำร่วมกันเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 หรือ 1 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ใช่MOUจัดตั้งรัฐบาลที่เราทำได้ไม่สำเร็จ แต่เป็นเอ็มโอยูที่เกี่ยวข้องกับการร่วมเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานสภาฯและรองประธานสภาฯ 2 คน ที่ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง


 นายพิธา กล่าวว่า ขอให้ผลักดัน 3 ประเด็นคือ1.การทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง 2.ความคืบหน้านิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อความยุติธรรม นิติรัฐ นิติธรรม แก้วิกฤตการเมือง และคนไทยที่เห็นต่าง ไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องลี้ภัย และ3.แก้ไขกฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพ อันได้แก่ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ ร่างพ.ร.บ.กฎอัยการศึก และร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งขณะติดอยู่ที่นายกฯ เพราะถูกตีความว่าเป็นกฎหมายการเงิน ทั้งหมดเพื่อปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง