ตามที่ ครม.เห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง โดยโครงการจะเริ่มในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567-31 พฤษภาคม 2568 นั้น

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการ "ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” ได้วางกฎเหล็กในการเข้าร่วมโครงการเพื่อให้โครงการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ป้องกันการทุจริต เพื่อให้เกษตรกรชาวนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมที่สุด นอกจากนั้น การเปิดโอเพนปุ๋ยตามคู่มือกำหนดจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมได้ ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์แต่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ในขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การรับสมัครผู้ประกอบกิจการ ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ดำเนินการโดย กรมการข้าว ประกาศรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ตามคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ และส่งรายชื่อ ผู้ประกอบการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ 

คุณสมบัติและเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบกิจการปุ๋ย ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นผู้ผลิตปุ๋ย หรือผู้นำเข้าปุ๋ย ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อ การค้า หรือเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้า แล้วแต่กรณี ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องได้รับหนังสือสำคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี สำหรับใช้ในนาข้าวตามสูตรปุ๋ยที่โครงการกำหนด หรือ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ แล้วแต่กรณี และ ต้องจัดส่งรายงานผลการวิเคราะห์ปุ๋ยรุ่นที่จัดส่งในโครงการ โดยต้องวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ย ณ ห้องปฏิบัติการที่โครงการกำหนด

ทั้งนี้ สำหรับโรงงานปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องส่งสินค้าให้กับห้องปฏิบัติการตามประกาศกรมวิชาการเกษตร 23 แห่งเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ดังนี้ 1.ห้องปฏิบัติการ กรมวิชาการเกษตร 10 แห่ง 2.บริษัท ไอ ซีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บจก.) บจก.เอสจีเอส (ประเทศไทย) 3.บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด 3 สาขา (กทม.,ขอนแก่น,อยุธยาฯ) บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี 2 สาขา (อยุธยาฯและสมุทรปราการ) 4.บจก.เทอราโก เฟอร์ติไลเซอร์ 5.บจก.เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส์ 6.บมจ.ศูนย์ห้องปฎิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรและเอเชีย 7.บจก.แนส อโกร 8.บจก.เจียไต๋ และ บจก.เวิลด์ เฟอท

คุณสมบัติและเอกสารหลักฐานผู้ประกอบกิจการชีวภัณฑ์ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ กำหนดไว้ชัดเจนต้องเป็นผู้ผลิตในประเทศที่ได้รับใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย ชีวภัณฑ์ต้องได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ต้องจัดส่งรายงานผลการวิเคราะห์ชีวภัณฑ์ รุ่นที่จัดส่งในโครงการ โดยต้องวิเคราะห์คุณภาพชีวภัณฑ์ ณ ห้องปฏิบัติการที่โครงการกำหนด

​​​​​​​ ​​​​​​​

โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ มีหลายกรมหลายหน่วยงานรับผิดชอบ และหน้าที่ก็แตกต่างกันออกไป กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร  กรมการข้าวจัดหาผู้ประกอบการที่ผ่านการขึ้นทะเบียน ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์จะรับสมัครสหกรณ์การเกษตร เป็นจุดกระจายโดยมีคุณสมบัติต้องเป็นผู้รับอนุญาตขายปุ๋ยและใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ส่วนกรมวิชาการเกษตรจะเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของปุ๋ย และเรื่องเงินเรื่องทอง อยู่ที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการผ่านแอบพลิเคชั่น

แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า “เรื่องของปุ๋ย คนกระทรวงเกษตรฯมีบทเรียนจากในอดีตมาแล้ว การดำเนินการ ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ในครั้งนี้ทุกขึ้นตอนถึงมีการถ่วงดุลและดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ถือเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อยู่แล้ว เรื่องนี้พร้อมให้สังคมตรวจสอบทุกขึ้นตอน เรื่องนี้ไม่มีล็อกสเปคไม่มีการอำนวยความสะดวกหรือวิ่งเต้นของผู้ประกอบการใดๆ ขอให้เชื่อมั่น ที่สำคัญคือการเปิดโอเพ่นปุ๋ยตามคู่มือ คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมดไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง”