กิจกรรมเชิญชวนกำจัด “ปลาหมอคางดำ” จำเป็นต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดจำนวนประชากรสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ และเป็นหนึ่งใน 6 มาตรการของกรมประมง ดังเช่น กิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง ปราบปลาหมอคางดำ” ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ดำเนินมาถึงครั้งที่ 4 แล้ว ล่าสุด จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในจังหวัดที่เพิ่งพบการระบาด ก็ได้จัดกิจกรรม “ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ” เชิญชวนประชาชนตามล่าปลาหมอคางดำเมืองคอนขึ้นมาใช้ประโยชน์ หรือขายให้ผู้รับซื้อได้ทันทีในกิโลกรัมละ 10 บาท สร้างความสนใจและตื่นรู้ในกลุ่มประชาชนไม่น้อย โดยจะเริ่ม Kick off กิจกรรมกันในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้
มาตรการกระตุ้นให้ชาวบ้านจับปลาขึ้นมาใช้ประโยชน์สร้างรายได้ เป็นอีกหนทางสำคัญที่จะช่วยลดประชากรปลาได้มากและรวดเร็ว ปลาชนิดนี้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ต่างจากปลานิลหรือปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลาแดดเดียว ห่อหมก ทอดมัน ไส้อั่ว ปั้นขลิบปลา ฯลฯ นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนในระดับ SME เช่น โรงงานทำน้ำปลา โรงงานทำน้ำปลาร้า ซึ่งสำนักงานอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ควรเข้ามาให้คำแนะนำ
นอกเหนือจากการปรุงเป็นเมนูอาหารและขนมของกินเล่นแล้ว ประโยชน์ของปลาหมอคางดำ ยังนำขึ้นมาขายให้โรงงานปลาป่น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ สำหรับใช้รดต้นไม้ให้ดอกผลงดงาม ได้อีกด้วย
ปัจจุบันปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไปใน 13 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ เป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” และออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 6 มาตรการ ได้แก่ 1.) ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ ในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ 2.) ปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่องในแหล่งระบาด ตลอดปี 2567
มาตรการที่ 3.) นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ส่งโรงงานเพื่อผลิตปลาป่น นำไปเป็นเหยื่อ สำหรับเลี้ยงปลากะพงขาว และทำน้ำหมักชีวภาพ 4.)สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน 5.) สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาชนิดนี้ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด พร้อมกระตุ้นให้จับปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ และ 6.) ติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการให้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวในทุกจังหวัดที่พบการระบาดของปลาชนิดนี้
รู้จักวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ
“ปลาหมอคางดำ” (ชื่อเดิม:หมอเทศข้างลาย) มีชื่อสามัญว่า Blackchin Tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron เป็นปลาสายพันธุ์ต่างถิ่นจากทวีปแอฟริกาที่มีความทนทาน โตเร็ว แพร่พันธุ์เร็ว สามารถมีชีวิตอยู่ได้ใน 3 แหล่งน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม เป็นที่มาของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ปลาชนิดนี้กินลูกปลา ลูกกุ้ง ลูกหอยเป็นอาหาร กระทบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และทำให้สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายไป
การเข้ามาของปลาคางดำ มีทั้งการขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องและการลักลอบนำเข้า ดังที่พบข้อมูลในช่วงปี 2556-2559 ที่ประเทศไทยทำการส่งออกปลาหมอเทศข้างลาย ในกลุ่มปลาสวยงามที่มีชื่อสามัญว่า Blackchin Tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron จำนวน 230,111 ตัว ไปยัง 17 ประเทศ อาทิ คูเวต ซิมบับเว ญี่ปุ่น ตุรกี แคนาดา สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการเลี้ยงปลาหมอชนิดนี้กันโดยทั่วไป โดยไม่มีการขออนุญาต ก่อนที่จะมีการกำหนดเป็นกฎหมายห้ามเลี้ยง ในปี พ.ศ.2561 ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง
เมื่อไม่สามารถระบุที่มาของการระบาดได้อย่างถูกต้อง การหันมาร่วมมือเดินหน้าแก้ปัญหาก่อนที่การแพร่ระบาดจะขยายวงกว้างขึ้นย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุด เมื่อภาครัฐยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการวางระบบแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ ดังที่ กรมประมงผ่อนปรนให้ใช้เครื่องมือจับปลาบางชนิดในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างหนักหรือมีความจำเป็นต้องใช้ ก็ถือเป็นแนวทางที่ดีมากในการกำจัดปลาหมอคางดำ
ขอเพียงช่วยกันจับ-ช่วยกันกิน ควบคู่ไปกับ การดำเนินมาตรการทั้ง 6 ข้อของกรมประมง เช่น การปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพง ปลาอีกงเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด พร้อมๆ ไปกับการประเมินสถานการณ์ปริมาณปลา รวมถึงให้ความรู้เกษตรกรและชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นการผนึกกำลังกันนำไปสู่ความสำเร็จในการจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดของปลาหมอคางได้ในไม่ช้า ดีกว่าไล่หาจำเลยสังคมที่ไม่มีทางรู้ว่าเป็นใคร
โดย : สลิลา มหรรณพ