วันที่ 3 ก.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการดำเนินโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าอาจมีความไม่โปร่งใสจำนวน 4 โครงการ รวม 842 คัน มูลค่าโครงการ 3,993,761,464 บาท (โครงการ 5 ปี) ว่า เรื่องรถขยะไฟฟ้า กทม.ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.มาโดยตลอด ในการตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อความโปร่งใส ต้องขอบคุณ ป.ป.ช.ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เข้าใจว่ามีหนังสือทักท้วงมาถึงปลัดกรุงเทพมหานคร โดยเรื่องรถขยะพลังงานไฟฟ้า มีจุดเริ่มต้นมาจากนโยบายของรัฐบาล และคิดว่าทั้งโลกมีการผลักดันเรื่องนี้ ปกติรถขยะของ กทม.ใช้พลังงานดีเซล มีการปล่อยมลพิษต่าง ๆ เช่น ฝุ่น PM2.5 ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นด้วย แม้แต่ในสภากทม.ยังเคยออกข้อบัญญัติเรื่องรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ดังนั้น สิ่งที่ กทม.ทำเป็นเรื่องของอนาคต เพราะค่าใช้จ่ายพลังไฟฟ้าถูกกว่าดีเซลในอนาคต เรื่องนี้มีเหตุผลรองรับชัดเจน และคิดว่าหลายที่ในโลกทำแบบนี้ ส่วนตัวคิดว่าการเปลี่ยนมาใช้รถระบบไฟฟ้าไม่มีใครไม่เห็นด้วย ปัจจุบันรถเมล์ส่วนใหญ่ในกรุงเทพก็ใช้พลังงานไฟฟ้า
นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนหนังสือที่ ป.ป.ช.ทักท้วงมา เข้าใจว่ามี 3 ข้อ คือ 1.เรื่องข้อบัญญัติปี 2566 กทม.ไม่ได้ระบุว่าเป็นรถพลังงานไฟฟ้า จึงเกรงว่าจะผิดเงื่อนไขข้อบัญญัติ ท่านจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงเตรียมนำเรื่องนี้เข้าสภากทม.อีกครั้งเพื่อของบประมาณปี 2568 โดยการระบุของบประมาณเพื่อจัดหารถขยะพลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจน 2.ป.ป.ช.เกรงว่าการกำหนดขอบเขตสัญญาเช่ารถ (TOR) จะไม่เปิดกว้างให้เอกชนมีการแข่งขันอย่างโปร่งใส คิดว่า ป.ป.ช.คงเห็นตัวอย่างที่ผ่านมา ว่า กทม.เคยเช่ารถขยะระบบดีเซลแบบเดิมมากว่า 20 ปี ซึ่งมีบริษัทเดียวที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานมาโดยตลอด ป.ป.ช.จึงอาจเกรงเรื่องความไม่โปร่งใส ที่ผ่านมาจากการเปิดประกวดราคาครั้งแรก มีผู้ให้ความเห็นกว่า 18 บริษัท เชื่อว่า กทม.ดำเนินการอย่างโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเปิดเผย ไม่มีการล็อกสเปก เชื่อว่า ป.ป.ช.อาจกังวลจากอดีตที่ผ่านมา
3.ป.ป.ช.กังวลเรื่องความพร้อมในการบริหารจัดการรถพลังงานไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์ กำลังคน ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก กทม.ใช้รถระบบดีเซลมาตลอด การเปลี่ยนแปลงจึงอาจสร้างความกังวลตามปกติ จากตัวอย่าง รถเมล์ในกรุงเทพฯ กว่า 1,500 คัน ในภาพรวมส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร รวมถึงเทศบาลบางแห่งในต่างจังหวัดมีการนำรถขยะพลังงานไฟฟ้ามาใช้แล้ว เบื้องต้นยังไม่พบปัญหาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โครงการรถขยะพลังงานไฟฟ้าเป็นการเช่ารถ ไม่ใช่การซื้อรถ ดังนั้น ผู้ให้เช่ามีหน้าที่รับผิดชอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับรถอยู่แล้ว เช่น มีรถทดแทนกรณีรถเดิมเสีย เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก กทม.ยังไม่เคยใช้รถพลังงานไฟฟ้า ทุกคนจึงมีความกังวล ส่วนตัวกังวลเรื่องจุดชาร์จไฟ ต้องดูข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงอย่างถี่ถ้วนในเรื่องนี้
นายชัชชาติ กล่าวว่า การตรวจสอบไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ กทม.กับ ป.ป.ช. มีความร่วมมือมาโดยตลอด เป็นเรื่องดีที่มีการท้วงติงมา เพราะโครงการยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ กทม.มีความรอบคอบมากขึ้น ซึ่งเรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มาคือโครงการระยะ 5 ปี ในส่วนการเช่ารถขยะชั่วคราว 270 วันยังดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องจัดการขยะเป็นเรื่องหลักของ กทม. หากใช้ระบบไฟฟ้าจะลดค่าใช้จ่ายในการเช่าลงร้อยละ 20 ค่าพลังงานลดลงครึ่งหนึ่ง
“เรื่องค่าใช้จ่ายไม่สำคัญเท่าการสร้างระบบนิเวศของรถพลังงานไฟฟ้า นำไปสู่สังคมสีเขียว หากเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ในอนาคตจะมีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าและสถานีชาร์จมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับผมถ้าเช่ารถน้ำมันแบบเดิม ราคาเดิม ก็ง่ายเลย เพราะเคยเช่ามา 20 ปี แต่เชื่อว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น ถ้ากล้าเปลี่ยนต้องกล้าทำ" นายชัชชาติ กล่าว