วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มประชุมโดยมีวาระการพิจารณาคดีที่สำคัญ 3 คดี คือคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม พ.ร.ป ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 โดยคดีนี้เป็นการพิจารณาหลังจากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ศาลได้มีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้ และได้แจ้งให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลและเลขาธิการ กกต.เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามประเด็นที่ศาลฯกำหนดกลับมายังศาลฯภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคดี รวมถึงกำหนดให้คู่กรณีเข้าตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 67
ดังนั้นการพิจารณาในวันนี้ จึงต้องลุ้นว่าศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาคดีนี้อย่างไรต่อไป ข้อเท็จจริงที่ได้เพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยแล้วหรือยัง และจะมีการเปิดไต่สวนตามที่พรรคก้าวไกลร้องขอหรือไม่
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ MOU 2544 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศนำ MOU 2544 มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทย และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชาเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิ์ของตนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 หมวด 3สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาตรา 25 และมาตรา 43 (2) หรือไม่
รวมถึงจะมีการแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติในคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ส่งคำโต้แย้งเพิ่มเติมของนายวิชา เบ้าพิมพา จำเลยที่ 1 น.ส.อนา วงสิงห์จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.1571/2566 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่าการที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ 2534 มาตรา 4 วรรคสองเฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 หรือไม่ด้วย
ส่วนในคดีประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา 40 คนขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ(5) หรือไม่จากเหตุนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ศาลได้มีคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลกำหนดยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยและได้กำหนดที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อในวันที่ 10 กรกฎาคม