วันที่ 3 ก.ค.67 เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์ข้อความระบุว่า...
เตือนภัยหน้าฝน ระวัง!! แมลงก้นกระดก หากถูกกัดจะแสบร้อน เป็นรอยไหม้ ห้ามสัมผัสด้วยการปัดหรือบดขยี้ ควรเป่าหรือสะบัดออก
“แมลงก้นกระดก” (Rove Beetles) หรือที่เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน หรือด้วงปีกสั้น เป็นแมลงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7 - 8 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำสลับส้มเป็นปล้อง ๆ จุดเด่นของแมลงชนิดนี้คือเมื่อเกาะแล้วจะมีลักษณะเหมือนก้นกระดกขึ้นมา มักพบในช่วงฤดูฝน โดยเข้ามาตอมหลอดไฟในบ้านและร่วงหล่นตามพื้น
สาเหตุของโรค : เกิดจาก แมลงก้นกระดกปล่อยพิษที่มีชื่อว่า พิเดอริน (Pederin) ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการแสบร้อนเป็นรอยไหม้หลังจากสัมผัสพิษประมาณ 8 - 12 ชม. โดยส่วนมากมักเกิดจากการสัมผัส ปัด หรือบี้ตัวแมลง จนทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง
อาการของโรค : สำหรับผู้ป่วยที่โดนกรดจากแมลงก้นกระดก จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน พบรอยไหม้ และตุ่มน้ำเป็นผื่น ที่มีลักษณะคล้ายเป็นเริมหรืองูสวัด แต่จะพบเป็นรอยยาว ไม่เป็นกระจุก มักพบรอยบริเวณนอกเสื้อผ้า ในบางคนที่แพ้พิษอาจมีอาการรุนแรง เช่น พุพอง คลื่นไส้อาเจียน หรือเริ่มมีไข้ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
วิธีการรักษา : เบื้องต้นเมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้น้ำเกลือสำหรับล้างแผลล้างทันที แต่หากเกิดตุ่มน้ำและรอยแดงขึ้นแล้ว สามารถทายาเพื่อรักษารอยแดง ซึ่งจะหายไปเองประมาณ 2 - 3 วัน แต่หากมีอาการรุนแรงเนื่องจากแพ้พิษให้รีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ในการรักษา ส่วนรอยดำที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ จาง และหายไปเอง ไม่เป็นแผลเป็น
วิธีป้องกัน : ปิดหน้าต่างและประตูให้สนิท เนื่องจากแมลงประเภทนี้ชอบเข้ามาเล่นแสงไฟในเวลากลางคืน และตรวจเช็กบริเวณที่นอนเสมอว่าไม่มีแมลงอยู่ ที่สำคัญหากพบแมลงก้นกระดกห้ามสัมผัสโดยการปัดหรือบดขยี้ ควรใช้วิธีเป่าหรือสะบัดออก
ที่มา : สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth