"นายกฯ" พร้อมให้ "ฝ่ายค้าน" ตรวจสอบในสภาฯ บอกเป็นหน้าที่ "มนพร" ยืนยันรัฐบาลพร้อมรับมือศึกซักฟอก ไร้ปัญหาฝ่ายค้านตรวจสอบ เตรียมจัดรมต.ตอบกระทู้ในสภาฯ ด้านปกรณ์วุฒิ เชื่อก้าวไกล ไม่ถูกยุบพรรค มั่นใจข้อมูลแน่น ขณะที่สภาสีน้ำเงินพรึบ จ่อเลือกองค์กรอิสระ 10 กว่าตำแหน่ง พ้นวาระปี 67 ทั้งประธานปปช.ประธานศาลรธน.
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยถึงความพร้อมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ว่า จะมีการพิจารณาเรื่องของร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับอุดมศึกษา 4 ฉบับ โดยจะมีการอภิปรายในเรื่องของรายละเอียด เนื้อหาของแต่ละร่าง แต่คงมีการรับหลักการ นอกจากนี้อาจมีการพิจารณาร่างกฎหมายที่สมาชิกวุฒิสภา มีการปรับแก้ไข และส่งกลับมาให้สภาฯพิจารณา
สำหรับเรื่องอื่นๆ ที่อาจมีการพิจารณาเพิ่มเติม อาจเป็นเรื่อง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่เห็นว่าควรต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งหากมีประเด็นข้อสงสัยก็จะเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อให้มีการปรับอย่างเหมาะสม และยืนยันไม่ใช่ลักษณะการอภิปรายเพื่อจ้องล้มรัฐบาล เพียงแต่เสนอแนะว่ามีประเด็นใดที่ควรปรับ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาก็มีรายละเอียดของกฎหมายหลายเรื่องที่รัฐบาล มีการตั้งคณะทำงาน เพื่อปรับแก้ไข รายละเอียดของกฎหมายบางอย่างที่ฝ่ายค้าน เสนอแนะ ถือเป็นเรื่องดี และเป็นที่น่าพอใจ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำงานของฝ่ายค้านในการเปิดสมัยประชุมสภาครั้งนี้ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ก็ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มข้นขึ้น เพราะปีที่ผ่านมา รัฐบาลอาจจะดำเนินการ ในส่วนของงบประมาณ และนโยบาย ล่าช้า เพราะอาจเป็นผลมาจากรัฐบาลชุดก่อน แต่ครั้งนี้ถือว่ารัฐบาล ทำหน้าที่บริหารงบประมาณอย่างเต็มตัว การทำหน้าที่จึงต้องมีการตรวจสอบการทำหน้าที่ให้หนักขึ้น รวมถึงการติดตาม การผลักดันนโยบายของรัฐบาล ว่าได้ทำตามที่ให้คำมั่นไว้กับประชาชนหรือไม่ เมื่อถามถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวยืนยันว่า มีแน่นอน แต่ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงคดียุบพรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุจะดำเนินการแล้วเสร็จ ก่อนเดือนก.ย. ว่า คิดว่าศาลจะไม่ยุบ เพราะไม่มีอะไร เรามั่นใจในข้อโต้แย้งของเรา ต่อข้อกล่าวหาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่าหลายคนคงเห็นว่า ท่าทีของฝั่งผู้กล่าวหาดูจะเกรงๆ ต่อข้อโต้แย้งของเราพอสมควร คือมีน้ำหนักและมีโอกาสมาก ที่พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสรอดสูง
วันเดียวกัน ที่หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 4/2567 ถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านประกาศเตรียมจะยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแน่นอน และจะมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณปี 2567 อย่างเข้มข้น ว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน แต่สำหรับตนและรัฐบาลพร้อมให้ตรวจสอบ
ด้าน นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญวันแรกวันที่ 3 ก.ค. ว่า ที่ประชุมสภาฯ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งสิ้น 4 ฉบับ และจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับเป็นร่างที่ค้างมาหลายปี และสิ่งที่ทางคณะรัฐมนตรีต้องปรับปรุงการทำงานตามที่ สส.ร้องขอมาคือกำชับให้รัฐมนตรีไปตอบกระทู้ในสภาฯ ทั้งกระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไปให้ได้ เพราะเรื่องที่สส.ตั้งกระทู้มานั้นเป็นเรื่องของประชาชนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตนได้ขอความร่วมมือรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงจัดสรรเวลาให้กับการตอบกระทู้
เมื่อถามว่า จากนี้ปัญหารัฐมนตรีไม่ตอบกระทู้จนถูกฝ่ายค้านออกมาโจมตีจะหมดไปหรือไม่ นางมนพร กล่าวว่า เราพยายามขอความร่วมมือและอยู่ที่ความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง และพยายามว่าอย่าคงพื้นที่วันที่มีการตั้งกระทู้ ขอให้ไปตอบคำถามเพราะเวลาที่ใช้จริงๆไม่กี่ชั่วโมง และคำตอบที่ส.ส.ต้องการก็คือการแก้ไขปัญหาของประชาชน คิดว่าไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรสำหรับรัฐมนตรี แต่วันนี้เมื่อสภาฯ มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และส.ส.ทุกพรรคอยากให้รัฐมนตรีไปตอบในสิ่งที่เขาเสนอซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน
เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายค้านอาจยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลพร้อมหรือไม่ นางมนพร กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมอยู่แล้ว เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็อยู่ในกฎหมาย หากรัฐบาลบริหารไม่ถูกต้องฝ่ายค้านก็มีสิทธิยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เมื่อถามอีกว่า มั่นใจใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้เกิดปัญหา นางมนพร กล่าวว่า การทุจริตเกิดจากการใช้งบประมาณ แต่ขณะนี้งบประมาณปี 67 แต่ละกระทรวงแต่ละกรมนำไปบริหารตามนโยบายและรายละเอียดของแต่ละกระทรวงอยู่แล้ว หากมีประเด็นใดไม่ชอบมาพากล ฝ่ายค้านก็มีสิทธิเสนอได้ ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละคนก็ต้องสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการบริหารงบประมาณ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คน นั้น ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ สว. นอกจากการกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย และการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้ว อีกภารกิจสำคัญคือการให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 นี้มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ
โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะมีผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง 1 คน ในเดือนเม.ย.67 ที่ผ่านมา คือ น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย.67 เหตุอายุครบ 70 ปี และในวันที่ 22 ก.ย.นี้ จะมี พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน และ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ , นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, นายสรรเสริญ พลเจียก และนางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 คือ นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์
ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีอีก 2 คน ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.67 คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ
ขณะที่ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย.67 กับ นายปัญญา อุดชาชน ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย.67