กองทัพเรือ จัดพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

     เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 เวลา 09.30 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ พิธีสงฆ์ และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี จำนวน 14 ลำ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีเรือพระราชพิธีเข้าร่วม 8 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือเอกชัยเหินหาว เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์ โดยภายหลังจากเจ้าพนักงานอ่านโองการเสร็จ ได้เริ่มประกอบพิธีสงฆ์ 
     
จากนั้นผู้บัญชาการทหารเรือเจิมเรือ ปิดทอง ผูกผ้าสี คล้องพวงมาลัย โปรยข้าวตอกดอกไม้ เพื่อบวงสรวงแม่ย่านางเรือ และรำบวงสรวงโดยกรมศิลปากร เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี ซึ่งในเวลาเดียวกันที่ โรงเรือพระราชพิธี ท่าวาสุกรี ได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงเรือพระราชพิธีอีก 6 ลำ ได้แก่ เรือเอกชัยหลาวทอง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง และเรืออสุรปักษี
     
สำหรับการบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ เป็นพิธีกรรมในการยอมรับนับถือและให้การคารวะบูชาต่อพระภูมิเจ้าที่ที่ปกปักรักษา คุ้มครอง ป้องกันสถานที่นั้นๆ พิธีกรรมเป็นการสวดอาราธนาบารมี พระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆนุภาพ เทพพรหมเทวา รวมถึงเท้าจตุมหาราช ผู้เป็นใหญ่ในทั่วทิศทั้ง 4 ลงมาประทับ ณ สถานประกอบพิธี และพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เป็นความเชื่อแต่โบราณว่าเรือทุกลำมีแม่ย่านางเรือสิงสถิตอยู่ คอยปกปักรักษา คุ้มครองป้องกันอันตรายทั้งปวง ก่อนออกเรือทุกครั้ง หรือการนำเรือไปใช้งานจึงมักกระทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ
    
 ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 27  29 ก.ค.67 กองทัพเรือ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จัดแสดงแบบผูกทุ่น ประกอบกาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ในการบูรณะเรือพระราชพิธี ทั้ง 52 ลำ ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมทำและตกแต่งตัวเรือ เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการอัญเชิญเรือพระที่นั่งไปยังอู่หมายเลขหนึ่ง อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมการในส่วนของการฝึกซ้อมฝีพาย โดยจะเริ่มทำการซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 10 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ส.ค. ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8   ส.ค.  ครั้งที่ 3 ในวันที่ 15 ส.ค. ครั้งที่ 4 ในวันที่ 22  ส.ค. ครั้งที่ 5 ในวันที่ 3 ก.ย. ครั้งที่ 6 ในวันที่ 12 ก.ย. ครั้งที่ 7 ในวันที่ 19 ก.ย. ครั้งที่ 8 ในวันที่ 26 ก.ย. ครั้งที่ 9 ในวันที่ 1 ต.ค. และครั้งที่ 10 ในวันที่ 10  ต.ค.67
     
จากนั้นจะเป็นการซ้อมใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และ 22 ต.ค. และซ้อมเก็บความเรียบร้อยในวันที่ 24 ต.ค. โดยประชาชนที่มีความสนใจรับชมการฝึกซ้อมฝีพายและความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธี ที่นับว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก สามารถรับชมได้ตลอด 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 8 จนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร