กอ.รมน.ภาค 2 จับมือ สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลุยสร้างเกราะคุ้มกัน ไม่ให้เด็กนักเรียน และกลุ่มเยาวชน ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด เพื่อจะได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยและโทษของยาเสพติด และสร้างแกนนำเครือข่าย ร่วมป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 นายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดโครงการเยาวชนร่วมใจห่างไกลยาเสพติดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 (กอ.รมน.ภาค 2) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จัดขึ้นที่หอประชุมโรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ โดยมี พันเอกภูษิต พลาเศรษฐ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบุรีรัมย์ (ฝ่ายทหาร)
,นายบุญเต็ม กัลยาพานิช นายอำเภอบ้านกรวด ,นายณัฐพงษ์ วิโสรัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร คณะครู และตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ อ.บ้านกรวด จำนวนกว่า 150 คนเข้าร่วม 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ให้มีองค์ความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติดที่มีผลต่อร่างกาย สุขภาพอนามัย ครอบครัว ชุมชน และความมั่นคงของชาติ ทั้งยังเป็นการสร้างแกนนำเด็กและเยาวชน ให้ห่างไกลและต่อต้านยาเสพติดในสถานศึกษาและชุมชน เป็นการรวมพลังทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนเพื่อเป็นการพัฒนากระบวนการติดตามดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีปัญหายาเสพติด ให้กลับคืนสู่สังคมและสร้างสถานศึกษาที่เข้มแข็งปลอดยาเสพติด โดยมีคณะวิทยากรจาก กอ.รมน.ภาค 2 ,สำนักงาน ปปส.ภาค 3 ,ศอ.ปส.จ.บุรีรัมย์ ตำรวจ สภ.บ้านกรวด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม

สำหรับโครงการเยาวชนร่วมใจห่างไกลยาเสพติดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2567 นี้ได้จัดขึ้น 3 รุ่น โดยรุ่นแรกจัดขึ้นในวันที่ 2 ก.ค.67 ที่หอประชุมโรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ,รุ่นที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 12 ก.ค.67 ที่โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ และรุ่นที่ 3 จัดขึ้นในวันที่ 20 ส.ค.67 ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า การเข้าถึงยาเสพติดของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า น้ำกระท่อม และยาเสพติดชนิดอื่น จึงจำเป็นจะต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชน ในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ให้เด็กและเยาวชนได้เข้าใจถึงพิษภัย และโทษของยาเสพติดอย่างถ่องแท้ เพื่อลดจำนวนผู้เสพ และไม่ให้มีผู้ค้าทั้งในสถานศึกษา และชุมชนรอบข้างสถานศึกษา ซึ่งสิ่งสำคัญคือทุกภาคส่วน จะต้องให้ความสำคัญ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกรูปแบบ เพราะปัญหายาเสพติดนับเป็นปัญหาสำคัญ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง.