การแบ่งกลุ่มคนตามช่วงวัย ช่วงอายุ ก็จะมีการแบ่งเป็น “เจเนอเรชัน (Generation)” ต่างๆ ซึ่งก็คือแบ่งตาม “รุ่น” นั่นเอง แต่โดยทั่วไปก็จะเรียกทับศัพท์ในภาษาอังกฤษกันว่า “เจเนอเรชัน” หรือ “เจน (Gen)” อันเป็นการเรียกแบบย่อๆ สั้นๆ ง่ายต่อการพูด

โดยถ้าเป็นเจนของมนุษย์เรา ถึง ณ เวลานี้ ที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วงของกลุ่มคนที่มีอายุมากที่สุด และยังคงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ ก็คือ กลุ่มคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ซึ่งเกิดหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในระหว่าง ค.ศ. 1946 – 1964 (พ.ศ. 2489 – 2507) อย่างไรก็ดี ก็ยังมีกลุ่มคนที่เป็นช่วงวัยมากกว่านี้ คือ เกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ไม่ค่อยจะมีการพูดถึงกัน เพราะอายุอานามก็กว่า 80 ปี ถึงใกล้ๆ 100 ปีเข้าไปแล้ว

กลุ่มคนรุ่นต่อมาก็คือ “เจเนอเรชันเอ็กซ์ (Generation X)” หรือที่มักเรียกกันสั้นว่า กลุ่มคน “เจนเอ็กซ์” ก็จะเกิดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1965 – 1980 (พ.ศ. 2508 – 2523)

ต่อจากกลุ่มคนเจนเอ็กซ์ ก็เป็นกลุ่มคน “เจเนอเรชันวาย (Generation Y)” หรือบางครั้งก็เรียกกลุ่มคนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มคน “มิลเลนเนียนส์ (Millennials)” แต่โดยทั่วไปมักเรียกกันติดปากว่า กลุ่มคน “เจนวาย” อันเป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1981 – 1995 (พ.ศ. 2524 – 2538)

ถัดจากนั้นก็เป็นกลุ่มคนที่จะพูดถึงกันในคอลัมน์นี้ นั่นคือ กลุ่มคน “เจเนอเรชันซี (Generation Z)” หรือที่มักเรียกกันสั้นว่า กลุ่มคน “เจนซี” นั่นเอง โดยซีที่ว่า ก็คือ “ตัวแซต (Z)” พยัญชนะตัวสุดท้ายในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ “ตัวซี (C)” พยัญชนะภาษาอังกฤษที่ตามหลัง “ตัวบี (B)”

โดยกลุ่มคน “เจนซี” ที่ว่านี้ ก็เป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1996 – 2012 (พ.ศ. 2539 – 2555) ถ้าพูดถึงอายุอานาม ณ ปัจจุบัน ก็อยู่ในระหว่าง 12 – 28 ปี เท่านั้น ทว่า ก็ได้รับการคาดหมายตั้งเป้าให้เป็น “กลุ่มคนแห่งความหวัง” หรือ “เจนแห่งความหวัง” ของมนุษยชาติเราเลยทีเดียว

เรียกว่า ถูกให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก ด้วยตั้งความหวังกันเป็นอย่างสูง

เหตุปัจจัยอะไรนั้นหล่ะหรือ?

ก็เพราะกลุ่มคน “เจนซี” นี้ โดยส่วนใหญ่ก็จะถูกเลี้ยงดูมาโดยพ่อแม่ บิดา มารดา ที่มาจากกลุ่มคน “เจนเอ็กซ์” อันเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการกล่าวขานว่า “ทำงานหนัก แบกรับภาระอย่างหนักอึ้ง” แถมมิหนำซ้ำยัง “หนัก” จากหลายด้าน หรืออย่างน้อยก็สองด้านที่คนกลุ่มนี้ต้องประสบ จนคนกลุ่ม “เจนเอ็กซ์” นี้ ได้รับการขนานนามอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นกลุ่มคน “แซนด์วิช” อันเปรียบเสมือนแผ่นขนมปังที่ประกบหน้า-หลัง

นอกจากนี้ กลุ่มคน “เจนซี” ก็เติบโตมาแบบแทบจะเคียงคู่กับกลุ่มคน “มิลเลนเนียลส์” หรือกลุ่มคน “เจนวาย” อันเป็นกลุ่มคนในยุคบุกเบิก หรือปฐมบท แรกเริ่มของเทคโนโลยีข่าวสารต่างๆ ก่อนพัฒนาต่อมาอย่างรวดเร็วในยุคของกลุ่มคนเจนซี

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนเจนซี ก็เติบโตมาท่ามกลางกระแสกดดันทางสังคมเป็นประการต่างๆ และยุ่งเหยิงอีกต่างหากด้วย อันเป็นผลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายยิ่งกว่าแต่ก่อน ทำให้มีช่องทางในการเสพข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตลอดจนการค้นคว้าหาความจริง ได้มากกว่ากลุ่มคนเจนอื่นๆ

นอกจากนี้ การค้นคว้าหาความจริง และเสพข่าวสารข้อมูลต่างๆ อย่างเปิดใจแล้ว กลุ่มคนเจนซี ก็ยังถูกจัดให้เป็นกลุ่มคนที่กระจายข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งกว่ากลุ่มไหนๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกเทคโนโลยีข่าวสารอีกต่างหากด้วย

ด้วยประการฉะนี้ ทำให้ลักษณะโดยทั่วไปของกลุ่มคนเจนซี ชอบที่จะแสดงความคิดเห็น และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากกว่าที่ยอมอยู่นิ่งเฉย แตกต่างจากกลุ่มคนรุ่นเจนอื่นๆ ที่รอรับผลกระทบต่างๆ เหมือนเฉกเช่นที่เคยเป็นมา

ยกตัวอย่างเช่น “เกรตา ธันเบิร์ก” สาวนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ชาวสวีเดน ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างชนิดถึงลูกถึงคน ถึงพริกถึงขิง ก็ถือเป็นกลุ่มคนของคนเจนซีนี้ (เกรตา ธันเบิร์ก เกิดปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 ปัจจุบันอายุ 21 ปี)

“เกรตา ธันเบิร์ก” นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน เป็นกลุ่มคนเจนซี (Photo : AFP)

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มคนเจนซี จะจริงจังกับการเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ แต่ทว่า กลุ่มคนเจนนี้ ก็มักจะมีมุกขำๆ ล้อเลียน แบบยกให้เป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้เลย โดยกลุ่มคนเจนซีถูกจัดให้เป็นผู้นำวัฒนธรรม “มีม (Meme Culture) อันเป็นวัฒนธรรมเล่นมุกล้อเลียนอย่างขำๆ

เพราะเหตุนั้น กลุ่มคนเจนซี จึงมักเป็นพวกที่ชอบสร้างคอนเทนต์ และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ที่ได้รับความนิยมในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย อันสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันที่กระจายเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการเปิดใจรับรู้ รับฟัง และค้นคว้าหาข้อมูล หาความจริงโดยกลุ่มคนเจนนี้แล้ว

ด้วยเหตุปัจจัยนั้น กลุ่มคนเจนซี ในฐานะที่เป็นกลุ่มคน “เจนแห่งความหวัง” ก็ตกเป็นเป้าหมายของการนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การขายสินค้าต่างๆ

โดยมีรายงานจากผลสำรวจ ศึกษา แล้วพบว่า กลุ่มคนเจนซี ถือเป็น “นักชอปปิง” ตัวยง จากการที่พวกเขาติดตามการนำเสนอขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งแน่นอนว่า สื่อโซเชียลมีเดียที่ว่า ก็ยังรวมถึง “ติ๊กต็อก (TikTok)” ด้วยนั่นเอง

ดังเช่นผลการสำรวจของกลุ่มคนเจนซีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งล่าสุด ที่คนกลุ่มเจนนี้ชอปปิงตามพวกอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย และที่มีการเผยแพร่ตามแอปพลิเคชันติ๊กต็อก

นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกับกลุ่มคนเจนซี (Photo AFP)

นอกจากด้านการตลาดแล้ว ปรากฏว่า ในทางการเมืองกลุ่มคนเจนซี ก็เป็นเป้าหมายการรณรงคหาเสียงเลือกตั้งอย่างสำคัญด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะมีขึ้นในปลายปีนี้ ปรากฏว่า ขนาดนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน ก็ขึ้นลิสต์รายชื่อของกลุ่มคนเจนซีนี้ สำหรับการหาเสียงเพื่อเรียกคะแนนจากกลุ่มคนเจนนี้ให้ได้มากที่สุด