“อลงกรณ์“ ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ห่วงโลกรวนทำไทยประเทศเสี่ยงท็อปเทนของโลก เร่งผลักดันนวัตกรรมลดก๊าซเรือนกระจก “จิรวัฒน์“ เปิดตัว “คาร์บอนเทค“ (CARBON Tech) มั่นใจช่วยลดโลกร้อนสร้างโอกาสใหม่คาร์บอน เครดิตให้ประเทศไทย
วันที่ 2 ก.ค.67 นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์ (FKII Thailand) เปิดเผยวันนี้ว่าจากรายงานดัชนีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก( Global Climate Risk )ล่าสุดเปิดเผยว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)มากที่สุด ซึ่งกลุ่มคนยากจนได้รับความเสียหายมากกว่าประชากรกลุ่มรายได้อื่นๆ
“สถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์จึงเร่งผลักดันนวัตกรรมลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกรวนโลกร้อนทะเลเดือดที่มาเร็วและแรงกว่าที่คาดหมายโดยในปี2566ต่อเนื่องถึง5เดือนแรกของปีนี้มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดต่ำลงเกษตรกรมีรายได้น้อยลงและครึ่งหลังของปีนี้อาจเผชิญภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงในวงกว้างจากปรากฏการณ์ลานีญ่า”
ด้านนายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ และหนึ่งในองค์ปาฐกของงานเอฟเคไอไอ.ครั้งที่ 1ได้นำเสนอรายงานพร้อมกับเปิดตัว“คาร์บอนเทค“(CARBON Tech)โดยแสดงความมั่นใจว่าจะช่วยลดโลกร้อนสร้างโอกาสใหม่คาร์บอน เครดิต(Carbon Credit)ให้ประเทศไทย
“ปัจจุบันทั่วโลกต่างเร่งพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อแข่งกับเวลาในการแก้ไขปัญหา "โลกเดือด" รวมทั้งงัดมาตราการบังคับใช้กับภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้จ่ายเงินซื้อเครดิต หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตกับโครงการต่างๆ ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกคาร์บอนเครดิตจากการปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันการปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา "โลกเดือด" และไม่ทันต่อความต้องการคาร์บอนเครดิตจากภาคธุรกิจทั่วโลก จึงได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนจากสาหร่าย (Algae-Based Carbon Sequestration), เทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบผสมผสานเชิงนิเวศ (Eco-Interwoven Cultivation), เทคโนโลยีการเพิ่มความเป็นด่างในมหาสมุทร (Ocean Alkalinity Enhancement) และเตรียมขยายผลนวัตกรรมต่างๆเหล่านี้ออกมาเป็นเชิงพาณิชย์
โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30-40 ภายในปี 2030 และเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 แต่ยังสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit ที่มีมูลค่าตลาดหลายล้านล้านบาทในอนาคตให้กับประเทศอีกด้วย
นวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ให้กับประเทศไทย ซึ่งสามารถเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออก Carbon Credit ในภูมิภาคและทั่วโลก”
สำหรับสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์(FKII Thailand: Field for Knowledge Integration and Innovation)เป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม100%(Social Enterprise)ทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่นวัตกรรมและองค์ความรู้รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี.ตลอดจนองค์กรภาคเกษตรและเกษตรกรสามารสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์