วันที่ 2 ก.ค.67 นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ระบุว่า...

เนื้อเพลง Rockstar ของ Lisa เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อยในหมู่แฟนเพลงที่พูดภาษาอังกฤษ

โดย อัษฎางค์ ยมนาค

อย่าว่าแต่เราคนไทยที่อาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาชัดเจน แม้แต่ฝรั่งชาติที่พูดอังกฤษแบบ Native English บางคนก็อาจฟังแบบไม่แน่ใจว่าลิซ่าพูดถึงอะไร

เพราะเนื้อเพลงมีทั้งแสลง สองแง่สองง่าม คำเปรียบเทียบ เปรียบเปรย อุปมาอุปไมย หรือคำที่แฝงนัยยะสำคัญ เพราะเป็นเพลงที่ต้องฟังไปแปลไป หรือฟังไม่เข้าใจว่าลิซ่าร้องหรือพูดถึงอะไร

เนื้อเพลงแร็พ เช่น Rockstar เป็นภาษาอังกฤษแบบ Black American คือภาษาอังกฤษที่คนผิวสีใช้ ซึ่งคนพูดภาษาอังกฤษประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลียหรือแม้แต่คนอังกฤษเองก็อาจฟังไม่เข้าใจ

ผมพูดแบบนี้บางคนอาจไม่เข้าใจ ก็คงต้องอธิบายว่า เหมือนเพลงไทยบางเพลงหรือหลายๆ เพลงที่เราฟังเพราะๆ แต่เอาจริงๆ เราไม่รู้ว่านักร้องเขาพูดถึงอะไร

จะยกตัวอย่างเพลงไทยยุคปัจจุบันผมก็ไม่ค่อยรู้จัก คงต้องยกตัวอย่างเพลงสมัยที่ตัวเองเป็นวัยรุ่น

เพลง Rockstar ไม่ใช่เพลงสบายๆ ของพี่เบิร์ดที่เราฟังแบบสบายๆ แต่เนื้อเพลง Rockstar เหมือนหลายๆ เพลงของคาราวาน คาราบาว ที่เป็นเพลงฮิต แต่ฟังมาเป็นปีๆ หรือหลายสิบปีแล้วก็ยังไม่รู้เลยว่า เนื้อหาพูดถึงอะไร

เอาที่นึกออกตอนนี้เลย เช่น เพลงขลุยผิว ของอัสนี-วสันต์ ยกตัวอย่างท่อนหนึ่งมาให้ลองอ่านดูว่า มันเป็นภาษาไทย แต่เราคนไทยเข้าใจมั้ย ว่าพูดถึงอะไร

“ขลุ่ยเอ๋ย ขลุ่ยผิว แผ่วพลิ้วปลิวลมรำเพยไหว เจ้าผลัดถิ่นฐานมาแสนไกล

เจ้ามีผู้ใดประคองพา เมื่อลมโน้มกายเจ้าผ่าน ทำนองสดับหวาน พรมพร่าง

มืดมิดหมอกสลัวมัวฟ้าสาง คละเคล้าขานขับกับตะวัน”

ไม่เข้าใจเลยใช่มั้ยว่า พี่ป้อมร้องเพลงเพื่อเล่าอะไรให้เราฟัง

หรือแม่แต่เพลงฮิต ”กุ้มใจไม่มี ล ลิง“ จนถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่า ทำไมไม่มี ล ลิง

หรือเพลง “กล้วยไข่” ของเฉลียง ชอบมาก ดังมาก แต่พี่ๆ เขาพูดถึงเรื่องอะไร?

”….ลัล ลัล ลา เด็กน้อยสารภี ลัล ลัล ลา ไม่ยอมฟังครู

ลัล ลัล ลา ครูเงื้อไม้ตี ลัล ลัล ลา สารภีตีตอบ

เอาปืนยิงแล้วโยนระเบิดซ้ำ ตีจนคะมำแล้วโยนมาใหม่

กลับมาบรรเลง ร้องเพลงกล้วยไข่ จับมือร่วมร้องเข้าไว้ ไม่มีกระดูก….“

เพลงแร็พ จะเป็นการร้องแบบพูดเร็ว (Rapping) โดยร้องเป็นจังหวะและริทึม (Rhythm and Flow) ซึ่งจังหวะของแร็พมักจะเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความน่าสนใจ เนื้อร้องจะต้องสอดคล้องกับจังหวะและริทึมของดนตรี

มีการเล่นคำ (Wordplay) เนื้อเพลงแร็พมักมีการใช้การเล่นคำ การสัมผัสคำ และการใช้อุปมาอุปไมย (metaphors) เพื่อสร้างความหมายและความน่าสนใจ

มีการสัมผัสคำ (Rhyme Schemes) แร็พมักใช้การสัมผัสคำทั้งภายในบรรทัดและท้ายบรรทัด เนื้อเพลงจึงมีความไหลลื่นและจำง่าย

มีการเล่าเรื่อง (Storytelling) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัว ประสบการณ์ชีวิต หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสังคม

เนื้อหาครอบคลุมเรื่องราวหลากหลาย เช่น ชีวิตประจำวัน สังคม การเมือง ความรัก การต่อสู้ ความฝัน และความทะเยอทะยาน

มีการแสดงอารมณ์ (Expressive Delivery)ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และพลัง

ดังนั้น เวลาเราคนไทยแปลเนื้อเพลง Rockstar อาจแปลตามตัวจนผิดไปจากความหมายจริงๆ ที่ลิซ่าต้องการจะบอกหรือตามที่ผู้เขียนเนื้อร้องตั้งใจจะเล่า แบบคนละโลก

เราถึงเห็นทั้งคนไทยและคนที่พูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิดยังตีความกันไปคนละทิศทาง เช่น ท่อนที่ว่า

Been on a mission, boy, they call me catch-and-kill

แปลตรงๆ มันคือเรื่องของภารกิจของทหารที่ออกรบ แต่ความหมายในเพลงนี้ย่อมไม่เกี่ยวกับภารกิจของทหารเลย

หรือท่อนนี้

I'm stealin' diamonds, make them chase me for the thril

บางคนบอกว่า เธอขโมยเพชร แต่บางคนบอกว่า เธอคือเพชรต่างหาก ที่คนตามเธอเพราะเธอเป็นของมีค่า

หรือท่อนนี้

Been MIA

MIA ส่วนใหญ่ก็บอกว่าคือ Missing in action ที่หมายถึง ทหารที่หายไปในสงคราม บางคนบอกว่าหมายถึง ลิซ่าไปมาทั่วโลก บางคนบอกว่าเป็นสนามบิน Miami International Airport !

BKK so pretty

บางคนบอกว่า ลิซ่าชื่นชมเมืองไทยของตัวเอง แต่บางคนก็บอกว่า เป็นการแสดงตัวว่า ลิซ่า ไม่หลงแสงสี จึงไม่ลืมว่าเธอมาจากไหน (BKK หมายถึง กรุงเทพฯ ก็จริง แต่ในที่นี้ก็เหมารวมว่าพูดถึงเมืองไทย)

Been MIA, BKK so pretty

บางคนบอกว่า ลิซ่าเป็นคนไทย แต่ไม่ได้อยู่เมืองไทยมานาน แต่ตอนนี้เธอกลับมาแล้ว

หรือท่อนนี้

Lisa, can you teach me Japanese?" I said, "hai hai"

ไอ้คำว่า ไฮไฮ นี้ก็มีตีความกันไปต่างๆ นานา

ส่วนใหญ่พูดถึง การแสดงถึงการเหยียด หรือการถูกเหมารวมของคนเอเชีย บางคนบอกว่า เพลงพาไป บางคนบอกว่ามันเป็นการเล่นคำเพื่อสัมผัสกับคำว่า life lifeในท่อนต่อไป และอื่นๆ

หรือประโยคง่ายๆ แบบนี้ Every city that I go is my city

ก็อาจไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษรว่า ”ทุกเมืองที่ฉันไปคือเมืองของฉัน“ นั้นเลย บางคนบอกว่า มันหมายความว่า ลิซ่าบอกว่า เธอเป็นนักร้องอินเตอร์ เป็น Global ระดับ Worldwide

ซึ่งการที่เนื้อเพลง ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษรนี้ เป็นเอกลักษณ์หรือเสน่ห์ของเพลงแร็พ นั่นเอง

และคำว่า Rockstar ไม่ได้หมายถึงเฉพาะนักร้องเพลงร็อค เพราะลิซ่าเป็นนักร้องเพลงแร็พ

Rockstar หมายถึง คนที่มีชื่อเสียง คนที่ประสบความสำเร็จ คนที่มีความสามารถพิเศษ คนดัง คนมีเสน่ห์ คนที่มีความมั่นใจตัวเอง คนที่มีความสามารถในการผลักดันทีมงานประสบความสำเร็จ คนที่พัฒนาตัวเองจนโดดเด่น

ซึ่งไม่ว่าใครจะมีอาชีพอะไรก็เป็น Rockstar ได้

เพลง Rockstar เป็นเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง ดนตรีก็ลึกล้ำ จังหวะและดนตรีสนุกสนาน เนื้อร้องก็มีเสน่ห์ด้วยการทำให้เกิดกระแสการตีความไปต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเพลงแบบนี้ Rockstar ฮิตไปแล้ว และกำลังสร้างยอดวิวขึ้นไปเรื่อยๆ

แต่เชื่อว่าลิซ่ายังมีเพลงทีเด็ด ที่จะเป็นเพลงที่คนเข้าถึงได้ง่ายหรือติดปากติดหูง่าย และจะสร้างแรงสั่นสะเทือนวงการอีกแน่นอน