วันที่ 2 ก.ค.67 นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่าย ทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเมือง และผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือกสว.มีความพยายายามดำเนินการ ให้มีการระงับยับยั้ง การได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกชุดนี้ หรือแม้แต่การให้ยกเลิกไปเลย แล้วเริ่มกันใหม่ ว่า เรื่องนี้น่าจะสร้างปัญหาตามมามากมาย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ฉบับเจ้าปัญหา ในมาตรา 107 ที่กำหนดว่า"วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเอง ของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางาน หรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชน ซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้" และตอนท้ายของมาตราหักกลับย้อนเกล็ดเป็นบอกว่า"จะกําหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันก็ได้ โดยให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภากำหนด"
นายนิกร กล่าวว่า ดังนั้นปัญหาส่วนใหญ่ทั้งหมดนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญ และกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดอยู่ ซึ่งคงต้องรอให้ส.ส.ร ที่กำลังจะมีขึ้นเสนอแก้ไขกันต่อไปให้ดีกว่านี้ เพราะเราได้เห็นสภาพปัญหากันได้ชัดเจนพอสมควรแล้ว ในขณะนี้กับระบบการได้มาซึ่งสว.ที่เป็นระบบริเริ่มใช้หนึ่งเดียวในโลก ต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาดแล้วแก้ไขกันในโอกาสต่อไป
"ขณะนี้เราจะต้องพิจารณว่าดำเนินการอย่างไรกับว่าที่สว.ชุดที่อยู่ตรงหน้านี้ จะให้กกต.ยกเลิกไปทั้งหมด แล้วให้สมัครใหม่เลือกกันเองขึ้นใหม่ตามกฏหมายเดิมตามที่มีผู้รู้เสนอหรือ ถ้าจะทำเช่นนั้น เราท่านแน่ใจหรือว่าส่วนใหญ่ของว่าที่สว.ใหม่นั้น ได้มาด้วยการทุจริตไม่ชอบตามกฏหมายที่มีอยู่ เรามีหลักฐานการทำผิดชัดเจนกันแล้วหรือ แล้วถ้าเขาเหล่านั้นฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของเขา ใครจะรับผิดชอบได้ กรธ.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สนช.ผู้ออกกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ฉบับปี 2561 หรือกกต.ผู้ต้องทำหน้าที่และอำนาจตามที่กฏหมายกำหนดและคำวินิจฉัยของศาลที่มีมา แล้าเราจะทำอย่างไรกับหลักการแห่งความยุติธรรม"นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวอีกว่า หรือจะที่เป็นสากลว่า "ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์หนึ่งคน” ซึ่งเป็นคำกล่าวของ Sir William Blackstone นักกฎหมายชาวอังกฤษที่ได้กล่าวเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1769 และยึดถือเป็นหลักการกันมาจนถึงปัจจุบัน หรือเราจะให้ทำเท่าที่พอจะทำได้ในคราวนี้คือปล่อยให้กกต.ดำเนินการต่อไปในขั้นตอนการ อาจเข้าไปตรวจสอบคุณสมบัติผู้ผ่านรอบสุดท้ายทั้ง 200 บวกสำรอง 100 ที่น่าจะมีปัญหาอีกครั้ง แล้วประกาศรับรองผล จากนั้นรีบเข้าไปตรวจสอบทางลึก หาผู้กระทำผิดตามกฏหมายที่บังคับใช้อยู่ เมื่อพบแล้วก็ถอดถอนออกไปในระยะเวลาตามกฏหมาย และเอาสว.สำรองที่มีอยู่มากเพียงพอ เข้ามาทำหน้าที่แทน มิใช่ให้ดำเนินการไปตามที่เราพอใจจะคิดเช่นการยกเลิกไปโดยไม่ได้มองที่มาและที่ไปให้ครบวงจรโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา