“ผู้สมัครสว.”ยื่นร้อง”ศาลปกครอง”ให้สั่งระงับประกาศผลเลือกสว. บอกไม่เชื่อลมปากกกต.ปล่อยผ่านก่อนสอยทีหลัง ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ”ว่าที่สว.-ตัวสำรอง 300 คน”อีกรอบ ด้าน"สมชาย" จี้กกต. นับคะแนนเลือกสว.ใหม่ เพื่อให้หายข้อกังขาโพยคะแนน-บล็อกโหวต ยันมีหลักฐานชัด
ที่สำนักงานศาลปกครอง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.67 นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic ในฐานะอดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มที่ 20 (กลุ่มอื่นๆ) กรุงเทพมหานคร ยื่นฟ้องคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุด ในข้อกล่าวหาปล่อยปละละเลยในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ไม่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สว.ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจาณาสั่งระงับการประกาศรับรองผลการเลือกสว. เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น สว. 200 คน และผู้อยู่ในบัญชีสำรองอีก 100 คน ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย
นายจาตุรันต์ กล่าวว่า ตนเห็นว่า กระบวนการเลือกสว.2567 ตั้งแต่การรับสมัคร มาถึงการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะเป็นวิบากกรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่หลังการเลือกเสร็จกลับกลายเป็นวาระแห่งชาติ ประชาชนโฟกัสมาที่กลโกง การจัดตั้ง กลุ่มอาชีพของคนเป็นว่าที่สว.ใหม่ ตนไม่ได้ด้อยค่าอาชีพ แต่กระบวนการได้เข้ามาของบางคน มีความเชื่อมโยงของบางกลุ่มที่พยายามจัดตั้งและนำคนเข้ามา
ทั้งนี้ เห็นว่าเป็นการเข้ามาสมัครที่ปราศจากการอยากเป็น สว.ตามรัฐธรรมนูญ ที่เราเห็นคือ การเลือกไม่ลงคะแนนให้ตัวเองถือเป็นความผิดปกติ และการเลือกลงในกลุ่มอาชีพที่อาจจะผิดมาตั้งแต่แรก โดยใช้เจ้าหน้าที่ กลไกภาครัฐ มีการอบรม ซึ่งมีทั้งคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจ บางจังหวัดมีคนเยอะ บางอำเภอใช้การอะลุ้มอล่วย ใช้วิจารณญาณที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ หรือมีความผูกพันกันส่วนตัวหรือไม่ ดังนั้นการลงไม่ตรงกลุ่มอาชีพมีปัญหาแน่ๆ การบอกว่า เป็นเจตนาของผู้สมัคร ซึ่งอาจจะทำหลายอาชีพ แล้วแบบนี้จะกำหนดไว้ทำไม 20 กลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มคลุมเครือก็ต้องตีความ แต่บางกลุ่มขัดแย้ง ดูแล้วพิกลพิการ ตนไม่ได้ด้อยค่าอาชีพ แต่บางคนอาจจะถูกหลอกจากคนจัดตั้งเพื่อกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ตรงตามเป้าหมาย 20 กลุ่มให้ได้มากที่สุด
"เรื่องนี้หลายคนเห็นความผิดปกติ หากปล่อยว่าที่สว. 200 คน เข้าไปทำหน้าที่ ผมเกรงว่าบางคนจะไม่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่สว. เนื่องจากอาจถูกครอบงำจากบางกลุ่มบางก้อน จึงมายื่นเรื่องให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง ไต่สวนฉุกเฉินในการที่ กกต.จะประกาศรับรองผล ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 3 ก.ค.นี้ ตามที่กกต.ให้สัมภาษณ์ เรื่องนี้ยังมีเวลา ไม่ต้องรีบ เพาะการปล่อยผ่านสว.บางคนเข้าไป มองว่าการไปพิจารณารับรองบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระก็ดี การไปพิจารณากฎหมายสำคัญที่มีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศนั้น ผมไม่สามารถปล่อยผ่านได้จริง ๆ ดังนั้นอยากให้กกต.มีเวลาและตรวจสอบอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งก่อน ยืนยันไม่ได้ต้องการให้การเลือกเป็นโมฆะ"
นายจาตุรันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักฐานที่นำมายื่นประกอบในวันนี้ มีทั้งหลักฐานจากที่ปรากฏผ่านสื่อ จากการไปเจอมา และหลักฐานจาก นายสมชาย แสวงการ หนังสือท้วงติงจาก นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา และหลักฐานการนับคะแนนเป็นศูนย์คะแนนของผู้สมัคร สว. รวมถึงกลุ่มอาชีพ ที่นำมายื่นประกอบการพิจารณาของศาล อย่างไรก็ตาม วันเลือกนั้นตนไม่ได้มีการทกท้วง เพราะเห็นว่า มีคนยื่นเรื่องเยอะแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกกต.ชี้แจงว่าจะมีการรับรองไปก่อน แล้วค่อยสอยทีหลังก็ได้ นายจาตุรันต์ กล่าวว่า ไม่ได้ ตนไม่เชื่อมั่นในแนวทางนี้ จากากรทำหน้าที่ที่ผ่านมาของกกต. ตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่แล้ว ทุกวันนี้ให้ใบแดง ใบเหลืองกี่คนหลังปล่อยผ่านเข้าไป เป็นคำพูดที่กกต.สามารถพูดได้ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นบอกตรงๆ ว่ายังไม่เชื่อมั่นตรงนี้
เมื่อถามว่า มีคนบอกว่าไม่อยากให้ปล่อยยาวไป เพราะไม่อยากให้สว.ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รักษาการต่ออีกยาว นายจาตุรันต์ กล่าวว่า อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน ตนคิดว่าหากกกต.ตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่งกกต.บอกว่ามีข้อมูล และได้มาก่อนที่ประชาชนรู้อีก หากเป็นเช่นนี้ก็เชื่อว่ากกต.มีหลักฐานเด็ด อยู่ที่ว่าจะกล้าใช้อำนาจของกกต.หรือไม่
สำหรับกรณีที่กกต.บอกว่า การฮั้ว หากไม่มีหลักฐานเรื่องการจ่ายเงินก็จะจับได้ยากนั้น ตนไม่เชื่อว่าคน 4 หมื่นคน แล้วกกต.จะไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน อยู่ที่ว่าจะสืบคดีหรือไม่ ขอเรียกร้องผู้สมัครที่อาจจะถูกชักจูงในทางที่ผิดๆ มีการจ่ายเงิน ชักจูงจริงแล้วถูกหักหลังก็ขอให้นำหลักฐานมายื่นต่อกกต.ได้เลย นี่จึงเป็นการทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง
นายจาตุรันต์ กล่าวว่า ครั้งนี้ กกต.ต้องเร่งกู้ศักดิ์ศรีอันศักดิ์สิทธิ์ของกกต. ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่แค่การจัดการเลือกตั้ง ใครๆ ก็จัดเลือกตั้งได้ ประชาชนอาจะทำได้ไม่ดีเท่ากกต. แต่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ของกกต. เรื่องการจับทุจริต รู้ว่ามีความผิดแล้วดำเนินคดีอย่างไร การทำหน้าที่ของกกต.ชุดนี้ทำให้นึกถึงการทำหน้าที่ของกกต.ชุดก่อนๆ นี้ ไม่ได้ปล่อยผ่านไปง่ายๆ นั่นคือการทำหน้าที่อย่างศักดิ์สิทธิ์
ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ขอเรียกร้องให้ กกต.นับคะแนนการเลือก สว.ใหม่ เนื่องจากมีประเด็นข้อสงสัยว่าการลงคะแนนเลือกนั้นไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดให้เป็นการลงคะแนนลับ แต่ที่ผ่านมาพบกรณีของโพยคะแนนและบล็อกโหวต
นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีผู้ไปร้องเรียนและยื่นไปยังศาลฎีกาแล้ว ทั้งเรื่องการลงคะแนน และการขานคะแนนไม่ลับ เรื่องการฮั้ว การบล็อกโหวต ซึ่งศาลได้ยกคำร้อง แต่ศาลได้บอกว่าให้ผู้ร้องไปร้องที่ กกต. ตามกฏหมาย ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ฐานะกกต. มีหน้าที่ต้องทำให้การเลือก ต้องสุจริตและเที่ยงธรรม ควรเปิดให้นับคะแนนใหม่ต่อหน้าสื่อมวลชน และถ่ายทอดสด จะได้เห็นการเรียงชุดบัตร ซึ่งสันนิษฐานได้แล้วว่าเกิดกระบวนการบล็อกโหวต ซึ่งเมื่อสันนิษฐานแล้ว กกต. ก็มีสิทธิ์วินิจฉัยว่าการเลือกไม่สุจริตและสั่งให้มีการเลือกใหม่ได้ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า กมธ.ได้ติดตามการเลือก สว. และพบประเด็นที่เป็นปัญหา และมีหลักฐานชัดเจน คือภาพบันทึกวิดีโอและภาพถ่ายและตัวอย่างบัตรที่มีกันฮั้วและการซื้อเสียงลงคะแนนที่อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ในก่อนการเลือกระดับอำเภอ ซึ่งประชาชนได้ส่งหลักฐานมาให้กมธ.
“ทางที่ดี กกต.ต้องชะลอการประกาศรับรอง เพื่อตรวจสอบในเรื่องที่เคลือบแคลงสงสัยจำนวนมาก อีกทั้งไม่มีกฎหมายมาตราใดในรัฐธรรมนูญบังคับให้กกต. ต้องเร่งประกาศ สว. ถ้า กกต. เดินหน้าไปโดยไม่ตรวจสอบและเกิดการทุจริต กกต.มีสิทธิ์ที่จะถูกดำเนินคดี จึงขอให้ กกต.แก้ปัญหาด้วยการนับคะแนนใหม่ก่อน ให้รีบทำในรอบประเทศ เพราะยังมีเวลาและการตรวจคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ต้องตรวจทั้งประเทศใหม่ และให้ท่านตัดสินใจว่า จะให้การเลือกครั้งนี้ โมฆะทั้งหมด และเห็นว่าต้องให้ไปเลือกใหม่ หรือเห็นว่าถูกต้องแล้ว ลุยไปก่อน แล้วค่อยไปสอยเอาข้างหน้า ก็แล้วแต่" นายสมชาย กล่าว