วันที่ 1 ก.ค.67 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายกิตติธัช เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุป ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับลุ่มน้ำลำเชียงไกร มีพื้นที่ลุ่มนํ้าประมาณ 2,960 ตร.กม. หรือ ประมาณ 1.85 ล้านไร่ ครอบคลุม 5 อําเภอ ได้แก่ อำเภอเทพารักษ์ อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูงและ อำเภอพระทองคํา จังหวัดนครราชสีมา ในขณะที่ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ 364 ล้าน ลบ.ม. แต่อ่างเก็บน้ำที่สามารถรองรับน้ำได้เพียง 52 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้นทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เป็นประจำ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน) หมู่ที่ 5 บ้านสระพัง ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โดยมีแผนการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำต้นทุน เป็น 4.16 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 83,124 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 21,059 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมชลประทานบูรณาการร่วมกับภาคประชาชน ผู้นำท้องถิ่น เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร ตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้มีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยถือเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนให้กับ พี่น้องประชาชนในอนาคตต่อไป
จากนั้น ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียน จำนวน 50,000 ตัว ของกรมประมง ลงในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน) เพื่อรักษาระบบนิเวศ และเพิ่มปริมาณปลาให้ประชาชนในพื้นที่ได้นำไปบริโภค