คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินการพัฒนาต้นแบบและวางแนวทางการจัดสถานที่ทำงานและอาคารต่างๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยจัดทำ “โครงการอาคารสีเขียวมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่ยึดหลักการพัฒนาโครงการฯ บนพื้นฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และพัฒนาองค์กรสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero 

สำหรับในปี 2567 คณะวิทยาศาสตร์ได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการอาคารสีเขียวมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดยมี รศ.ดร.บุญเอก ยิ่งยงณรงค์กุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย เป็นประธานกรรมการฝ่ายดำเนินงาน  และ รศ.ดร.ธัชชัย ปุษยะนาวิน ผู้ประธานงานสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการฯ กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นภาคบรรยาย 3 เรื่อง และช่วงบ่ายเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 เรื่อง

การบรรยาย เรื่อง “ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้กระดาษ” โดย ผศ.ดร.ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์ และ อาจารย์ ดร. ชญานิษฐ์ วิทยาภิรมย์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการลด คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยอาศัยความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษา การบรรยาย เรื่อง “การประยุกต์ใช้โปรแกรม Zero Carbon Application และ Nature-based Solutions” โดย รศ.ดร. มาฆมาส สุทธาชีพ ภาควิชาชีววิทยา  และหัวหน้าโครงการวิจัย “การประเมินผลผลิตก่อนดำเนินการวิจัยของโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2567” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ที่มี ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. เป็นประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมี รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน เป็นผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สำหรับ Zero Carbon Application นั้น

เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของ บพข. อบก. และหน่วยงานในเครือข่ายการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral tourism: CNT) ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero tourism: NZT) และการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงบวก (nature positive tourism) การบรรยาย เรื่อง “การดูแลต้นไม้ใหญ่ตามหลักรุกขกรรม” โดยคุณชนัตฏา ดำเงิน รุกขกรจากบริษัทรุขกรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด  ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกต้นไม้ การดูแลรักษา การประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยของชุมชน และสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างมีคุณภาพ

​​​​​​​

การประชุมเชิงปฏิบัติการ มีหัวข้อดังนี้ 1) "สวนสวยด้วยมือเรา" โดย อาจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ ละไมพิศ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร,  2) “การทำสบู่สมุนไพรฟองฟู่” โดย ผศ.ดร. ศศิธร ตันฑวรรธนะ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย, 3) “พฤกษศิลป์ อิน อีโคปริ๊นติ้ง” โดย ผศ.ดร. หฤทธิ์ นิ่มรักษา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และคณะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดภาพถ่าย“สุนทรียแห่งธรรมชาติ รอบรั้วรามฯ”  การแจกกล้าไม้ “แลกเปลี่ยน ส่งต่อ พืชพรรณ มรดกทางธรรมชาติ” โดย รศ.ดร. กนกอร เรืองสว่าง ภาควิชาชีววิทยา และคณะ รวมทั้งการสาธิต “การออกแบบ การตัดกิ่ง และการดูแลต้นไม้ใหญ่” โดยอาจารย์เวชศาสตร์ พลเยี่ยม ภาควิชาชีววิทยา และคุณชนัตฏา ดำเงิน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะดำเนินโครงการอาคารสีเขียวฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยั่งยืน (sustainable university)