วันที่ 30 มิ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงคดียุบพรรค ซึ่งเป็นคำแถลงต่อเนื่องจากครั้งก่อนหน้า โดยใช้เวลากว่า 20 นาที

นายพิธา ออกตัวว่าจะเน้นไปที่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แล้วเริ่มต้นด้วยการทบทวน 9 ข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ว่าเราแบ่งเป็นสัดส่วนคือ เขตอำนาจและกระบวนการ , ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ พร้อมย้ำว่า กระบวนการในชั้นของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต. กำลังทำให้การยุบพรรคมี 2 มาตรฐาน บางพรรคใช้มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และบางพรรคใช้มาตรา 93 ถ้าเราดูอย่างเห็นได้ชัดมาตรา 92 และ93 ไม่สามารถใช้แยกกันได้

“บางพรรคที่ กกต. อยากจะส่งขึ้นทางด่วนก็ใช้มาตรา 92 พอ มาตรา 93 ไม่ต้องใช้ ถ้าปล่อยให้ใช้แยกกัน หมายความว่าพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน ส่วนพรรคอื่นไปทางธรรมดา เรายังยืนยันว่าไม่สามารถตีความมาตรา 92 และ 93 อย่างที่ กกต. ตีความได้ เราไม่สามารถให้การยุบพรรคมี 2 ช่องทางให้ กกต. ใช้ด้วยอำเภอใจ” นายพิธา กล่าว

นายพิธา ย้ำว่า ถ้าดูในแง่ของกฎหมายและเจตนารมย์ตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการถ่วงดุล ต้องเปิดโอกาสให้พรรคที่โดนร้องต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริงและหลักฐานทางกฎหมายโดยเช่นกัน

นายพิธา กล่าวว่า ระเบียบกกต. ที่ออกมาเมื่อปี 2566 ทำให้การบังคับใช้ไม่เหมือนกันกับพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

อีกประเด็นเป็นเรื่องของคำวินิจฉัย 3/67 ซึ่งเป็นคดีสั่งห้ามไม่ให้หาเสียง ไม่ผูกพันต่อการวินิจฉัยคดีนี้  จะเห็นได้ชัดว่าเป็นคนละข้อหา นอกจากนี้ความหนักของโทษก็ยังแตกต่างกัน

นายพิธา ยังโชว์ไทม์ไลน์คดียุบพรรคก้าวไกล พร้อมกล่าวว่า ล่าสุดวันที่ 19 มิ.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญสำหรับใช้ในการนัดพิจารณาครั้งถัดไปคือวันที่ 3 ก.ค. 2567 และการนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 ก.ค. 2567

ซึ่ง 2 คำถามที่พรรคก้าวไกลได้รับมาคือ 1) พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่ และ 2) การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่

โดยคำถามข้อที่ 1 คำตอบคือ ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้งในกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้องเพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้ว ด้วยเหตุว่านายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำความเห็นส่งไปยัง กกต. ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคที่น้อยกว่ากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ศาลก็ยกคำร้อง

“ความผิดเพียงเล็กน้อยศาลยังยกคำร้อง ดังนั้นในกรณีของพรรคก้าวไกลที่ กกต.ข้ามขั้นตอน ปิดโอกาสในการชี้แจงซึ่งเป็นความผิดพลาดที่มากกว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นว่าควรยกคำร้อง” นายพิธากล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า ส่วนในคำถามที่ 2 พรรคก้าวไกลตอบไปว่า พรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า “ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ” เพียงอย่างเดียว

นายพิธา ย้ำว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ในเมื่อเป็นคนละข้อหาและเป็นประเด็นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน แต่ในเมื่อ กกต. ปิดประตูใส่ พรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสได้ไปชี้แจง ไม่มีช่องทางในการท้วงติง และในเมื่อเป็นประเด็นใหม่และขอบเขตใหม่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่เท่านั้น

“ถ้าเกิดมันมีสองมาตรฐานแบบนี้ได้ ถ้า กกต. อยากยุบพรรคไหนเป็นพิเศษก็ส่งขึ้นทางด่วน ใช้ 92 อย่างเดียว พรรคไหนไม่อยากยุบเร็ว อยากประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดา ใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย คุณเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย รวมถึงไม่สามารถบอกว่าคดีนั้นจบก็ถือว่าเอาคดีนั้นมาผูกพันกับคดีนี้ ถือเป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ซึ่งเป็นเรื่องดุลยพินิจล้วนๆ เรื่องที่โทษรุนแรงขนาดนี้ไม่สามารถที่จะใช้ดุลพินิจโดยไม่มีการถ่วงดุลได้” พิธากล่าว

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม โดยผู้สื่อข่าวถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกล ไม่ได้กระทำตามข้อกล่าวหา จะมีการฟ้องร้องกลับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หรือไม่ ว่า ตนคิดว่ายังคงไกลไปเยอะที่จะคิดเรื่องนั้น อยากจะขอย้ำและขอยืนยันว่าคำร้องของ กกต.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนร่วม ไม่มีการถ่วงดุลและผิดขั้นตอนของทาง กกต.เอง ตนคิดว่าไม่ควรที่จะให้ตีความแบบ กกต.ได้ การแยกมาตรา 92 กับ 93 นั้นทำให้เกิดสองมาตรฐาน บางพรรคถ้ากรณีที่ใช้ดุลยพินิจแล้วเกิดแยกขึ้นมา ตนยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหา กกต.โดยตรง แต่ถ้ากกต. อยากจะยุบพรรคไหนเป็นพิเศษก็ส่งขึ้นทางด่วนใช้มาตรา 92 อย่างเดียว ถ้าพรรคไหนไม่อยากยุบเร็วอยากจะประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดาใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย ตนมองว่า กกต.จะเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย

“และไม่สามารถจะบอกว่าคดีนั้นจบ ถือว่าเอาคดีนั้นมาผูกพันกับคดีนี้ ถือว่าเป็นหลักฐานนั้นเชื่อได้ว่าอันดุลพินิจล้วนๆและเรื่องที่กฎหมายรุนแรงขนาดนี้ไม่สามารถที่จะใช้ดุลยพินิจโดยที่ไม่มีการทวงดุลได้ ต้องโฟกัสที่ตรงนี้ก่อน” นายพิธา กล่าว

ส่วนกระบวนการชี้แจงอาจจะย้อนกลับไม่ได้แล้วพรรคก้าวไกลประเมินฉากทัศน์หลังจากนี้อย่างไร นายพิธา ระบุว่า ก็มีหลายฉากทัศน์ ฉากทัศน์หนึ่งที่วันนี้เรานำเสนอโดยการเทียบเคียงคดี 15/53 ของพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฉากทัศน์ที่ศาลได้ยกคำร้องในคดีนั้น เพราะว่านายทะเบียนพรรคไม่ได้เสนอความเห็นก่อนถือว่าทำข้ามตามขั้นตอน ก็มีการยกคำร้องนั้นและก็ไม่ได้พิจารณาเรื่องอื่นอีก

หรืออีกฉากทัศน์หนึ่ง คือเดินหน้าต่อแล้วให้มีการไต่สวน แต่ตนคิดว่าถ้าดูตามการเทียบคดีของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 53 กับของเราก็จะเห็นว่ามันยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นที่ต้องยกคำร้อง เพราะในคดีนั้นของ กกต. ถ้าดูด้วยข้อกฎหมาย ตนมองว่าเป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ตนเป็นผู้เสียโอกาสในการชี้แจงในกระบวนการสำคัญที่กกต.ร่างขึ้นมาเอง ซึ่งตนพูดในเรื่องของกระบวนการไม่ใช่ในแง่ของผลลัพธ์

เมื่อถามว่ามองเรื่องของการรับลูกของศาลมองเป็นการฟอกข่าวให้ กกต.หรือไม่ นายพิธากล่าวว่าตนไม่อาจก้าวล่วงไปที่ทางศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่สามารถก้าวล่วงไปในมุมของ กกต.ได้ ในขณะเดียวกันตนก็ทราบว่าศาลถามอะไรไปที่กกต. และทราบคำตอบด้วย แต่ตนตั้งใจที่จะแถลงข่าวอย่างตรงไปตรงมาและยึดที่ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายของฝั่งตนเอง ไม่อาจไปก้าวล่วงไปที่ผู้ร้อง เน้นที่ฝั่งของตัวเองที่ถูกกระทบหรือถูกกระทำ ไม่ได้ต้องการที่จะไปก้าวล่วงในขอบเขตของคนอื่น

นายพิธา กล่าวว่าเมื่อเทียบกับคดีที่มีการร้องป.ป.ช. เรื่องของจริยธรรมที่มี สส. ก้าวไกล 44 คน เข้าชื่อแก้ 112 ตนเชื่อมั่นพอๆกัน ยังเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจตนาของพวกเรา ที่มีเจตนาดีกับระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดที่ผ่านมาที่มีคำอธิบายได้ เราประกันตัวเพราะเป็นสิทธิที่เป็นหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่เรามีผู้ต้องหามาตรา 112 เป็นสมาชิกพรรคหรือเป็น สส.พรรค ก็ต้องให้โอกาสเขาในการที่จะพิสูจน์ เพราะคดีก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด