"รัดเกล้า" เผยมาตรการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
วันที่ 30 มิ.ย.67 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบมาตรการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแร่ และมีมติเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 และ 20 สิงหาคม 2563 ให้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบกำกับดูแลและการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่และสัมปทานเพื่อจัดทำมาตรการ/ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบ โดยให้ศึกษาภายใต้บริบทของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีคดีร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 คดี (1) การอนุญาตให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำโดยมิชอบ และ (2) กรณีอุตสาหกรรมจังหวัดพิจารณาออกใบอนุญาตมีแร่เหล็กไว้ในครอบครองและออกใบอนุญาตขนแร่ให้ผู้ประกอบการเป็นเท็จ
ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหากรณีนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ และประเทศไทยแพ้คดีที่เอกชนฟ้องร้องตามสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน จากพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการทุจริตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศอย่างมาก ภาครัฐจึงต้องควบคุมและตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นควรมีมาตรการฯ จำนวน 3 ประเด็น ทั้งในช่วงการสำรวจแร่ ช่วงระหว่างสำรวจแร่ และช่วงการประทานบัตร (ก่อนการทำเหมือง ระหว่างการทำเหมือง และหลังปิดทำเหมือง
โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป