วันที่ 29 มิ.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง รายงานแผนการบริหารจัดการของลุ่มน้ำทั้งระบบ ณ โครงการชลประทานศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ศึกษาและวิเคราะห์ลุ่มน้ำทั้ง 5 ลุ่มของจังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำห้วยทับทัน ลุ่มน้ำห้วยสำราญ ลุ่มน้ำห้วยทา และลุ่มน้ำห้วยขะยุง พบว่า ลำห้วยสำราญมีความสำคัญต่อประชาชนมากที่สุด และเป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลเข้าสู่เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษโดยตรง ทำให้ประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
จากผลการศึกษา โครงการชลประทานศรีสะเกษ จึงได้วางแผนดำเนินการ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผันน้ำจากลำห้วยสำราญไปสู่ลำห้วยทาและห้วยขะยุง และโครงการผันน้ำ (Bypass) ฝั่งซ้ายจากลำห้วยสำราญไปสู่แม่น้ำมูล ซึ่งทั้ง 2 โครงการ จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้ง รวมกว่า 70,806 ครัวเรือน สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้อีก 140 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 287,600 ไร่ ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งใช้น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะเร่งด่วนอีก 108 โครงการ เป็นโครงการที่กระจายอยู่ในลุ่มน้ำที่สำคัญทั้ง 5 ลุ่มของจังหวัดศรีสะเกษ โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้มากขึ้นอีก 15 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 55,000 ไร่
สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับและความคุ้มค่าต่อการลงทุนนั้น จากการศึกษาและวิเคราะห์ในเบื้องต้น พบว่าโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีตัวชี้วัดระบุชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรและทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น โดยจะใช้ระยะเวลา 4-6 ปี ในการคืนทุน
ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยในระยะสั้นให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนของพี่น้องประชาชน ส่วนในระยะยาวให้เร่งศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำให้แล้วเสร็จภายในปี 2569