วันที่  29 มิ.ย.2567    นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  และคณะรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง และผู้ติดตาม ได้ลงพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามประเด็นปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ   โดยมี  นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนภาครัฐและเอกชนกว่าร้อยคน  กำนัน อสม ราษฎรจำนวนมากให้การต้อนรับ  พร้อมด้วยคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายเขต ก็ได้ร่วมให้การต้อนรับและร่วมเข้าประชุมด้วย

โดย นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้รายงานสถานการณ์ทุกด้านต่อนายกรัฐมนตรี  และนายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงานเรื่องยาเสพติด

ทั้งนี้ นายเศรษฐา  กล่าวตอบในบางตอนว่า  เมื่อได้รับฟังปัญหาของครอบครัวผู้ติดยาเสพติดและเห็นตัวเลขของจังหวัดศรีสะเกษถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ   ขอขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายตำรวจ ทหารสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง กระทรวงมาดไทย ที่ช่วยกันดูแลเรื่องนี้มา ขอให้ทราบว่าเรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องหนึ่ง  ส่วนเรื่องของการ“ใส่ใจ”ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ   การที่จังหวัดศรีสะเกษ สามารถทำให้ผู้ที่เคยเสพไม่กลับไปเสพอีก 90% ก็เป็นเรื่องที่ดี  เราอยากให้ตัวเลือกนี้เป็น 100% เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ   เมื่อวานนี้ ผมไปจังหวัดที่ร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่สีขาวทั้งหมดไม่มีผู้ที่เสพยาเสพติดเลย  หากเป็นไปได้เราน่าจะนำโมเดลจังหวัดร้อยเอ็ดที่สำเร็จ มาดำเนินการด้วย    ส่วนเรื่องอื่น เช่น เรื่องการเกษตร เรื่องการท่องเที่ยว   เห็นว่าจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง แต่หากยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ก็ต้องยกปัญหายาเสพติดมาแก้ไขก่อนเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย ขอให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณช่วยกันดูแลเรื่องงบประมาณในเรื่องนี้ด้วย

ภายหลังเสร็จจากประชุมนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางต่อไปที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง  ตำบลไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์  ร่วมปลูกต้นลำดวน โครงการ 72 ล้านต้น   พลิกฟื้นผืนป่าและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และ กราบสรีระสังขารหลวงปู่สรวง ที่วัดไพรพัฒนา     เวลา 16.30 น. นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะได้เดินทางไปติดตามปัญหาแหล่งน้ำและพบปะประชาชน ณ วัดสระบานสนวน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งลำห้วยสำราญ เป็นลำน้ำที่แม่น้ำมูลไหลผ่าน  มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาพนมดงรัก พื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 3,533 ตารางกิโลเมตร  ความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 209 กิโลเมตร  อยู่ในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุขันธ์  อำเภอปรางกู่  อำเภอวังหิน และอำเภออุทมพรพิสัย และไหลลงแม่น้ำมูลบริเวณอำเภอเมืองศรีสะเกษ    เหตุจากเมื่อปี 2565 ปริมาณน้ำในลำห้วยสำราญล้นตลิ่ง น้ำล้นตลิ่งถึงระดับ 2.9 เมตร  ทำให้น้ำท่วมในชุมชนและพื้นที่ของเทศบาลเมืองศรีสะเกษ  สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก  

ดังนั้น โครงการชลประทานศรีสะเกษ จึงได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาคือการก่อสร้างทางผันน้ำจากลำห้วยสำราญออกไปลงแม่น้ำมูล ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนเทศบาลเมืองศรีสะเกษได้  

เวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของจังหวัดศรีสะเกษ ณ โครงการชลประทานศรีสะเกษ สำนักงานชลประทานที่ 8 อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ 

สำหรับจังหวัดศรีสะเกษ ได้สร้าง เขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน  2 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 16 แห่ง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 41 แห่ง  โครงการป้องกันชายแดน จำนวน 17 แห่ง โดยปัจจุบันเก็บกักน้ำได้ ประมาณ 51.02%  ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้น ปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจำนวน 57 ตำบล ภัยแล้งซ้ำซากรวม 109 ตำบล

ซึ่งโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ศึกษา พบว่าลำห้วยสำราญมีความสำคัญต่อประชาชนมากที่สุด  จึงหาแนวทางแก้ไขปัญหา  บรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน  ได้แก่  โครงการผันน้ำจากลำห้วยสำราญไปสู่ลำห้วยทา และห้วยขะยุง   และโครงการผันน้ำ (By pass) ฝั่งซ้ายจากลำห้วยสำราญไปสู่แม่น้ำมูล ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะใช้วงเงินงบประมาณรวม 9,352 ล้านบาท หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยราษฎรด้านภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นอย่างมาก  รวมกว่า 70,806 ครัวเรือน ปริมาณน้ำเก็บกักจะเพิ่มขึ้น 140 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์  287,600 ไร่      

ทั้งนี้แผนงานระยะสั้น โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ศึกษาแล้วพบว่ายังมีราษฎรที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยมีเรื่องร้องขอสนับสนุนมายังโครงการชลประทานศรีสะเกษ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งเร่งด่วน จำนวน 108 โครงการ งบประมาณรวม 950 ล้านบาท ซึ่งกระจายในลุ่มน้ำที่สำคัญ ทั้ง 5  ลุ่มน้ำ โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำเก็บกักจะเพิ่มขึ้น 15 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 55,000 ไร่ ราษฎร 22,478 ครัวเรือน    

ซึ่งคาดว่าประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่าต่อการลงทุนมีตัวชี้วัด คือ พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งน้ำท่วมน้อยลง จำนวน 287,600 ไร่ สิ่งปลูกสร้างเสียหายน้อยลง จำนวน 93,000 ครัวเรือน เพิ่มน้ำต้นทุนให้กับจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 140 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 55,000 ไร่ และผลกระทบกับจังหวัดอื่นน้อยลงจากโครงการผันน้ำและก่อสร้างระบบโครงข่ายน้ำ (Water grid)  ภายหลังหารือการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งแล้วคณะก็เดินทางกลับที่พัก